เป็นประจำแทบทุกสัปดาห์ ผมจะแนะนำหนังสือที่อ่านแล้วชอบไว้ในแฟนเพจ boy's thought อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบของ facebook ทำให้การสืบค้นโพสต์เก่า ๆ ทำได้ยาก ผมจึงนำมารวบรวมไว้ในเว็บไซต์ เผื่อว่าใครจะลองไปหามาอ่านบ้าง โดยครั้งนี้จะเป็นหนังสือที่ผมอ่านในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2021 ครับ มาเริ่มกันเลย (ส่วนหนังสือที่อ่านแล้วชอบ Q1 2021 อ่านย้อนหลัง กด ที่นี่ หนังสือที่อ่านแล้วชอบ Q2 2021 อ่านย้อนหลัง กด ที่นี่ หนังสือที่อ่านแล้วชอบ Q3 2021 อ่านย้อนหลัง กด ที่นี่)
1.เมื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต (Meditations)
เล่มนี้เพิ่งได้อ่านครับ หลังได้ยินเสียงร่ำลือว่าดีมาก เป็นหนังสือโปรดของใครหลายคน เป็นหนังสือหายากอยู่ช่วงนึง แต่ปัจจุบันหาซื้อไม่ยากแล้วครับ
ความโด่งดังของหนังสือเล่มนี้มีหลายเหตุผล ว่ากันตั้งแต่ หนึ่ง ชื่อหนังสือ Meditations ที่ชวนให้เข้าใจว่าเป็นการทำสมาธิ (ซึ่งไม่ใช่ นี่เป็นบันทึกความคิดครับ) สอง เป็นบันทึกการครุ่นคิดถึงชีวิตของจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมัน นามว่า "มาร์คุส ออเรลิอุส" โดยเขียนไว้ในช่วงล้มป่วย เมื่อต้องเฝ้าทัพในป่าเขาลำเนาไพร และ สาม เป็นบันทึกที่เขียนให้ตัวเองอ่าน ไม่ได้หวังจะเขียนไว้สอนใคร และถึงตอนนี้บันทึกนี้ก็มีอายุนับพันปีแล้ว ...ทั้งหมดทั้งปวง จึงทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นตำนาน บุคคลมีชื่อเสียงจากทั่วโลกต่างยกย่อง หยิบมาอ่านและอ้างถึง
อย่างไรก็ตาม คงเป็นด้วยความคาดหวังที่สูงเกินไปของผม เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ จนจบ ผมพบว่าใจความในบันทึกนั้นไม่ได้มีอะไรใหม่ (แน่นอน ก็หนังสืออายุเป็นพันปีแล้ว) แต่ก็เป็นบรรพบุรุษทางความคิดของหนังสือปรัชญาชีวิตหลาย ๆ เล่มที่เราคงเคยได้พบผ่านอ่านเห็นมาแล้ว อีกทั้งยังมีหัวข้อที่ซ้ำไปมา ว่าด้วยเรื่องการละตัวตน ไม่หลงระเริงในลาภยศสรรเสริญ สรรพสิ่งรวมเป็นหนึ่ง อยู่กับปัจจุบัน ใหญ่แค่ไหนวันหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ไป
ถ้าเปรียบเป็นยุคปัจจุบัน บันทึกเล่มนี้ก็คือสเตตัสเกือบ 500 สเตตัสที่ตั้งค่า only me เพราะอยากระบายความคิด (ซึ่งแน่นอนว่าคนเราจะคิดวนเวียนไปมาไม่กี่เรื่อง) เพียงแต่ในเวลาต่อมา มีคนนำมาเผยแพร่หลังจากเจ้าของสเตตัสจากไป
เขียนมาทั้งหมดแบบนี้ ใช่ว่าหนังสือจะไม่ดีนะครับ ผมคิดว่านี่คือหนังสือที่ไม่ได้ออกแบบให้อ่านรวดเดียวจบ แต่ควรหยิบมาอ่านเรื่อย ๆ อ่านซ้ำได้อีก และควร "อ่านออกเสียงช้า ๆ" เพื่อพิจารณาความคิดเหล่านี้ ซึ่งเราจะรู้ซึ้งขึ้น เมื่อประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น
มีหลายประโยคที่ผมอ่านแล้วชอบ ขอยกมาบางประโยค (ตัดต่อเพื่อความกระชับ)
ทุกสิ่งที่งามนั้น งามโดยตัวมันเอง คำชื่นชมหาได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน ดังนี้จึงไม่มีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลงตามคำชม
ชีวิตคนเราก็ขนาดกระจ้อยร่อยนัก แค่ซีกมุมหนึ่งของโลกที่อาศัย แม้แต่ชื่อเสียงระบือนานก็น้อยนิดเดียวขี้ปากบอกต่อกันไปในหมู่มรรตรัยผู้อ่อนด้อยที่ล้วนเร่งรุดสู่ความตาย พวกนี้หาได้มีใครรู้จักตัวเขาเอง
ส่วนใหญ่คำพูดและการกระทำของเราไม่จำเป็น กำจัดเสีย เวลาก็จะมีมากขึ้น ความขุ่นข้องก็จะลดลง เช่นนี้ทุกครา จงเตือนตนว่านี่เกินจำเป็นหรือไม่
ให้ใจสามารถแปรอุปสรรคให้สอดคล้องกับการกระทำสู่เป้าหมาย สิ่งกีดขวางกลายเป็นสิ่งหนุนเสริม สิ่งกางกั้นวิถีกลายเป็นวิถีไปเอง
“เจ้าจะขึ้นไปเรียกความนิยมบนเวทีหรือ ไม่รู้หรือว่าอะไรเป็นอะไร” “ข้ารู้ แต่ผู้คนเขานิยมเยี่ยงนี้” “เช่นนี้เจ้าก็เป็นคนเขลาไปด้วยกับเขาอีกคน”
แม้ว่าเจ้าจะใจสลายลง ผู้คนเขาก็จะทำไปอย่างที่เคย
สิ่งที่คนเขาทำนั้นไม่ได้รบกวนจิตใจเราดอก การกระทำของเขาก็อยู่ในกำกับของเขาเอง มีแต่อคติของเรานั้นที่รบกวน
สุดท้าย ที่ต้องชื่นชม คือสำนวนการแปลของคุณปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ทำออกมาดีมาก ภาษาไม่เก่าเกินจนอ่านเข้าใจยาก แต่ก็งดงามมากจนซาบซึ้งถึงปรัชญาความคิด
Meditations เมื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต สำนักพิมพ์โอ้มายก้อด ราคาปก 280 บาท
2.กับดักคนฉลาด (Intelligence Trap)
นับเป็นหนังสือที่แปลกเล่มนึง ผมอ่านรอบแรก รู้สึกเฉย ๆ แต่โชคดีมีเหตุให้จำเป็นต้องอ่านซ้ำอีกรอบ ปรากฏว่ารอบนี้ชอบมาก ได้ความรู้ดีมาก ๆ ใครชอบหนังสือฮาวทูสไตล์ฝรั่ง ๆ ประมาณ Malcolm Gladwell แต่ลีลาไม่เยอะเท่า เข้าประเด็นไวกว่า น่าจะชอบเล่มนี้
หลักใหญ่ใจความของเล่มนี้ เขาพูดถึงประเด็นที่ว่า "ทำไมคนฉลาดจึงทำพลาดได้แบบโง่ ๆ?" แบบที่เราคิดไม่ถึง แบบที่เรานึกไม่ออกว่ามันเป็นไปได้ไง คนฉลาดแบบนั้นทำไมเขาตัดสินใจแบบนี้นะ เหลือเชื่อจริง ๆ พวกเขาขาดทักษะเรื่องอะไรกัน และจะมีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้ตัดสินใจพลาดแบบนั้น เพราะคนฉลาดที่ตัดสินใจพลาดนั้นอาจเป็นคนในทีมของเรา ลูกน้องของเรา เจ้านายของเรา หรือแม้แต่ตัวเราเอง
ผมชอบที่ผู้เขียนวางโครงสร้างของเนื้อหาไว้ได้ดี เนื้อหาแบ่งเป็น 4 พาร์ทครับ เริ่มจาก 1.ยิ่งฉลาด ยิ่งมีโอกาสโง่เขลา 2.เครื่องมือที่ช่วยให้ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล 3.เรียนรู้อย่างไรให้เข้าใจลึกซึ้งและจดจำได้นาน 4.การรับมือกับปัญหาเมื่อคนฉลาดมารวมตัวกัน แต่ตัดสินใจได้งี่เง่ามาก
ผู้เขียนค่อย ๆ เล่าตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการวัดความฉลาดของมนุษย์ (วัดไอคิว) ซึ่งเป็นแค่การวัดความฉลาดทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว มีอีกแนวคิดนึงที่วัดเรื่องความฉลาดได้ครอบคลุมกว่า เพราะวัดความฉลาดถึง 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านการวิเคราะห์ (analytical) ด้านการสร้างสรรค์ (creative) และด้านการปฏิบัติ (practical) นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนที่ดูฉลาด เป็นอัจฉริยะในการเรียน กลับไม่ประสบความสำเร็จในหลายอย่าง หรือแม้กระทั่งตัดสินใจผิดพลาดอย่างเหลือเชื่อ
เล่าแบบสั้น ๆ ผู้เขียนบอกเราว่า สาเหตุที่คนฉลาดพลาดนั้นมี 3 อย่างคือ 1.เก่งแต่วิชาการ แต่ขาดความฉลาดด้านอื่น 2.มีอคติในการตัดสินใจตามสัญชาตญาณ และ 3.ไม่อยากเสียหน้า จึงใช้ความฉลาดหาเหตุผลมาปกป้องตัวเอง
ดังนั้นเราจึงควรมี 2 คุณสมบัติสำคัญเพื่อช่วยลดอคติในการตัดสินใจ ได้แก่ intelligence humble ซึ่งหมายถึงการรู้จักถ่อมตัว รู้ว่าเรานั้นมีความรู้จำกัด และมักตัดสินใจแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ และอีกหนึ่งคุณสมบัติก็คือ open-minded thinking หรือการคิดแบบเปิดใจ ซึ่งหมายถึงเรื่องเดียวกันนั้นมีคำตอบอื่น ๆ อีกมากมาย และไม่ใช่มุมมองเราเท่านั้นที่ถูกต้อง
ส่วนเครื่องมือที่ช่วยให้ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล ผู้เขียนเสนอไว้ 2 อันคือ วิธีคิดของ เบนจามิน แฟรงคลิน มีชื่อว่า Moral Algebra (การชั่งน้ำหนักทางศีลธรรม) และ Solomon’s Paradox หรือ ความย้อนแย้งของกษัตริย์โซโลมอนแห่งอิสราเอล ที่ได้รับพรจากพระเจ้าให้มีปัญญาตัดสินใจเรื่องยาก ๆ ของคนอื่นได้ทุกเรื่อง แต่กลับตัดสินใจเรื่องของตัวเองไม่ดีเลยสักอย่าง เราจึงต้องทำเสมือนว่าเราถอดตัวเองออกมามองตัวเองอีกที แล้วลองคิดว่าถ้าจะต้องให้คำแนะนำกับคนคนนี้ เราจะแนะนำเขาว่าอย่างไร วิธีนี้เรียกว่า Self Distancing ครับ
จริง ๆ ยังมีรายละเอียดดี ๆ อีกเยอะ ถ้าผมพิมพ์หมด ก็คงจะยาวกว่านี้มาก อยากให้ลองไปหาอ่านกันดูครับ ผมเองไม่ค่อยได้เข้าร้านหนังสือมานานแล้ว โดยเฉพาะร้าน B2S จึงเพิ่งรู้ว่าทาง B2S เปิดสำนักพิมพ์ใหม่ชื่อ Cactus Publishing เห็นออกหนังสือใหม่มานับสิบปก น่าสนใจหลายเล่มเลย เล่มนี้เป็นเล่มที่ผมลองซื้อมาครับ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกไว้ก่อนว่า ที่ผมบอกว่าอ่านรอบแรกแล้วเฉย ๆ นั้นอาจเป็นเพราะเมื่อเนื้อหาถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้วค่อนข้างเข้าใจยาก ไม่ใช่แปลไม่ดีนะครับ แต่พอแปลไทยแล้วเข้าใจยากกว่าทับศัพท์อังกฤษ พอรอบสองผมได้อ่านฉบับภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย จึงเข้าใจเนื้อหามากขึ้น
กับดักคนฉลาด Intelligence Trap เขียนโดย David Robson แปลโดย ไอริสา ชั้นสิริ ราคาปก 359 บาท
3.เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน (The Book You Wish Your Parents Had Read)
ชื่อหนังสือเต็ม ๆ คือ The Book You Wish Your Parents Had Read (and Your Children Will Be Glad That You Did) ผมชอบดีไซน์ปกฉบับแปลไทยที่ทำสีขาวในคำว่า You Wish จนแทบมองไม่เห็น และแน่นอน ชอบเนื้อหาในหนังสือด้วยครับ คนเป็นพ่อแม่ควรอ่าน คนกำลังจะเป็นพ่อแม่ยิ่งควรอ่าน หรือแม้แต่คนไม่มีลูก ถ้าคุณมีพ่อแม่ ก็ควรอ่าน เพราะจะทำให้เข้าใจตัวเราเองมากขึ้นว่าเราถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร
แม้ว่าเรื่องการเลี้ยงลูกจะไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับทุกคน เพราะไม่มีใครมีประสบการณ์ครบถ้วนเจอมาทุกรูปแบบ แต่การเป็นนักบำบัดของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ Philippa Perry ก็ทำให้เธอได้เจอพ่อแม่หลายคน ได้เห็นปัญหาทั้งที่เกิดระหว่างพ่อแม่กับลูก หรือพ่อกับแม่ด้วยกันเอง และกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้
เธอบอกว่านี่ไม่ใช่คู่มือสอนเลี้ยงลูก แต่จะเล่าว่าวิธีที่พ่อแม่เลี้ยงเรามา ส่งผลต่อการเลี้ยงลูกของเราอย่างไร มีอะไรที่เราอาจทำพลาดเหมือนรุ่นพ่อแม่ และเราจะหยุดความผิดพลาดนี้ให้มันจบที่รุ่นเราได้อย่างไร
เนื้อหาในเล่ม ครอบคลุมตั้งแต่วิธีที่พ่อแม่เลี้ยงเราส่งผลถึงตัวเราในวันนี้อย่างไร ตัวเราเองสร้างสภาพแวดล้อมอย่างไรให้กับลูกได้บ้าง การจัดการอารมณ์ความรู้สึกของลูก การอ่านพฤติกรรมว่าลูกทำแบบนี้กำลังสื่อว่าอะไร และยังรวมถึงเคล็ดลับเบื้องต้นตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ การคลอด การดูแลทารก ไปจนถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจนอาจเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้
มีหลายประโยคที่ผมอ่านแล้วชอบ ขอยกมาบางประโยค (ตัดต่อเพื่อความกระชับ)
ก่อนที่เด็กจะได้สัมผัสวัฒนธรรมการมีความสุขจากวัตถุ พวกเขาเคยรู้จักสิ่งที่สร้างความสุขได้ดีกว่านั้น นั่นคือ ความสัมพันธ์
การเป็นพ่อแม่สอนเราได้ดีว่ามนุษย์มีความรู้สึก ก่อนที่จะมีความสามารถในการคิด วิธีตอบสนองและตอบโต้ความรู้สึกของลูกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการมีคนสำคัญในชีวิตเป็นประจักษ์พยานคอยรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของเรา ถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของมนุษย์
เวลารู้สึกแย่ เราไม่ได้อยากให้ใครมาทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่อยากให้มีคนเข้าใจ มากกว่าจะมาจัดการเรา เราอยากให้มีคนเข้าใจว่าเรารู้สึกอย่างไร จะได้ไม่ต้องรู้สึกเช่นนั้นอยู่คนเดียว
รูปแบบของตัวตนและพฤติกรรมที่เราได้รับเป็นมรดกตกทอด มักพบได้ในวิธีที่เราคุยกับตัวเอง จงระวังคำพูดในหัวเหล่านี้ เพราะนอกจากจะมีพลังชี้นำชีวิตคุณแล้ว ยังส่งผลต่อชีวิตลูกคุณด้วย โดยส่งผลให้ลูกคุณตัดสินตัวเองและผู้อื่น
การตีตราว่าเป็นพ่อแม่ที่ดีหรือพ่อแม่ที่ไม่ดีนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะมันสุดโต่งเกินไป ไม่มีใครเป็นนักบุญหรือคนบาปไปทั้งหมด เราไม่ควรตัดสินลูกเช่นกัน เหมือนที่เราไม่ควรตัดสินตัวเอง
คุณเลือกได้ว่าจะชมหรือตำหนิติเตียน คุณเลือกได้ที่จะใจดีมีเมตตา การมีเมตตา ไม่ได้แปลว่าคุณไม่แสดงอารมณ์เวลาโกรธ แต่หมายถึงการอธิบายว่าคุณรู้สึกอย่างไรและทำไมจึงรู้สึกเช่นนั้น โดยไม่กล่าวโทษหรือต่อว่าอีกฝ่าย
ฉันไม่แนะนำให้คุณเล่นโทรศัพท์มือถือหรือใช้ทำงานต่อหน้าลูกนานๆ
เพราะนอกจากคุณจะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกแล้ว ยังสร้างพื้นที่ว่างเปล่าขึ้นในตัวลูกด้วย พื้นที่ว่างลักษณะนี้อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนเสพติดบางอย่างเมื่อโตขึ้น ถ้าคุณเอาแต่จ้องหน้าจอตลอด ลูกจะอยากจ้องหน้าจอบ้างเหมือนกัน
การมีลูก หมายความว่าคุณต้องเป็นพ่อแม่เมื่อลูกยังเล็ก เป็นผู้ใหญ่ไปพร้อม ๆ กับลูก และท้ายที่สุด คุณอาจกลายเป็นเด็ก เมื่อลูกกลายเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเรายอมให้บทบาทเหล่านี้ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ เรื่องจะง่ายขึ้นสำหรับทุกฝ่าย
โดยสรุป นี่คือหนังสือในเชิงจิตวิทยา ครอบคลุมทั้งการเลี้ยงลูก (เน้นไปที่เด็กเล็ก เด็กโตและวัยรุ่นมีไม่มาก) ความสัมพันธ์ของเราและคนรัก รวมถึงการเข้าใจตนเองและพ่อแม่ของเรา อาจไม่ใช่หนังสือที่ดีที่สุด อาจมีเนื้อหาบางส่วนที่เราไม่เห็นด้วย แต่โดยรวมถือเป็นหนังสือที่ดี คุ้มค่ากับการอ่านครับ
เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน สำนักพิมพ์ Bookscape ราคาปก 325 บาท
4.วินาทีไร้น้ำหนัก
สนุกมาก ผมอ่านไป 3 รอบ ยิ่งเก็บรายละเอียดที่ผู้เขียนซ้อนซ่อนไว้ได้เท่าไร ก็ยิ่งสนุกขึ้นเท่านั้น "วินาทีไร้น้ำหนัก" เขียนโดย "วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ" นักเขียน/นักแปล ประสบการณ์กว่า 20 ปี นี่คือนิยายเล่มแรกในชีวิตของเขาที่ตั้งคำถามกับชีวิตว่า "ถ้าคนเราโดดเดี่ยวดุจดังเกาะร้างกลางทะเลได้จริงๆ แล้วทำไมในวินาทีนี้เขาถึงรู้สึกสะทกอยู่ภายใน"
เล่าแบบสั้น ๆ ไม่สปอยล์ (หรือจะสปอยล์ก็ไม่มีผล เพราะความสนุกอยู่ที่รายละเอียด) ฉากเรื่องเกิดขึ้นในกรุงเทพ คืนวันศุกร์ รถตู้โดยสารเที่ยวสุดท้าย จากอนุสาวรีย์ชัยฯ ขึ้นดอนเมืองโทลเวย์ มุ่งหน้ารังสิต เพียงเปิดฉากมาหน้าแรก เราคนอ่านก็ได้รับรู้ว่ารถตู้คันนี้กำลังอยู่ในวินาทีประสบอุบัติเหตุรุนแรง ชนกับรถเก๋งคันหน้า...พวกเขากำลังอยู่ในวินาทีสุดท้ายของชีวิต
เสี้ยววินาทีที่กำลังเกิดอุบัติเหตุนั้นเอง ผู้เขียนได้แหวกถ่างมันออก แบบที่เขียนไว้ในหนังสือว่า "สสารรอบตัวกำลังหดเล็กลง แต่เวลาภายในใจของเขากับยืดขยายออกไปแบบไม่จำกัด แต่ละเสี้ยววินาทีกำลังผ่านไปอย่างเชื่องช้า"
จากนั้นก็ใช้เวลาที่ถูกยืดขยาย เขียนเล่าถึงชีวิตผู้คนบนรถตู้ ว่าก่อนที่จะมาร่วมชะตากรรมเดียวกันในคืนนี้ ที่ผ่านมาแต่ละคนมีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไรบ้าง สมหวัง ผิดหวัง เปลี่ยนแปลง หรือวนเวียนซ้ำซากมาอย่างไร
ตัวละครในรถตู้ มีตั้งแต่ อดีตคนเฝ้าร้านคาราโอเกะ ปัจจุบันคนขับรถตู้ / อดีตเซลล์แมนขายสีทาบ้าน ปัจจุบันขายหมึกเครื่องพิมพ์ / อดีตพนักงานบริษัท ปัจจุบันนักเขียนหนังสือนิยายขายไม่ออก / นักศึกษาสาวที่บังเอิญเป็นผู้อ่านนิยายเล่มนั้นที่ขายไม่ออก และรวมไปถึงคู่กรณี คนขับเก๋งคันหน้า เจ้าของบริษัทสถาปนิกเล็ก ๆ ...เรื่องราวของผู้คนเหล่านี้จะโยงใยไปถึงคนนอกรถตู้อีกหลายชีวิต หญิงคนขายน้ำที่วินรถตู้สาวรีย์ / หมาจรจัดที่อาศัยอยู่แถวนั้นเป็นประจำ / แคชเชียร์ซูเปอร์มาร์เก็ต หญิงสาวผู้มาซื้อของใช้ให้ผู้ชายของเธอ...ที่เป็นผู้ชายของคนอื่นด้วย
โครงเรื่องประมาณนี้ครับ แต่ความเจ๋งของนิยายเล่มนี้ก็คือมันซ้อนทับด้วยเรื่องราวหลายชั้น แต่ตั้งอยู่บนหัวใจเดียวกันนั่นคือ "การกลับบ้าน" ซึ่งความหมายของการกลับบ้านนั้นก็หลากหลายไปตามแต่ละตัวละคร
มีประโยคมากมายที่ผมชอบในหนังสือเล่มนี้ ขอยกมาบางตัวอย่าง...
บ้างอธิบายสภาพผู้คนในเมืองใหญ่ [เราต่างเกิดมาเพื่อเป็นฉากหลังอันพร่าเลือนสำหรับคนอื่น เราเป็นฉากหลังในชีวิตของกันและกัน ชีวิตนี้ทำไมมันช่างไม่มีความสลักสำคัญอะไรแบบนี้นะ / เมืองนี้มันก็เป็นเสียแบบนี้ มันเป็นเมืองที่ทำให้เราต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน ...ไม่แม้กระทั่งจะถามไถ่ชื่อเสียงเรียงนามทำความรู้จักกัน และทุกวันนี้ พวกเขาก็ไม่แม้กระทั่งจะเงยหน้าขึ้นมาสบตากัน]
บ้างก็บรรยายสภาพในใจตัวละคร [ชีวิตนี้มีความหมายอะไรมากกว่านี้อีกไหม นอกจากแค่ขับรถไปกลับระหว่างรังสิตกับอนุสาวรีย์ชัยฯ/บอกฉันสิเจ้า ซูเปอร์มาร์เก็ต บอกฉันหน่อยว่าค่ำคืนนี้ฉันอยากจะซื้ออะไรอีก ชีวิตนี้ฉันต้องการอะไร และฉันคือใครกันแน่ นอกจากการเป็นคุณลูกค้าที่ไร้นาม ฉันรู้สึกว่าตัวเองว่างเปล่า]
บ้างก็เป็นมุมคิดที่น่าสนใจ [นรกคือคนอื่น คือการที่เราต้องมีชีวิตโดยขึ้นกับคนอื่นตลอดเวลา สายตาที่จับจ้องมองมา ความเห็นทั้งด้านดีและด้านร้ายที่เล็ดลอดเข้าหู ทำให้เราไม่สามารถเป็นอย่างที่เราอยากเป็น/น่าประหลาดดีที่การจะทำหรือไม่ทำอะไร การตัดสินใจแต่ละอย่าง การเลือกแต่ละทาง การกระทำทุกอย่างในแต่ละเสี้ยววินาที จะส่งผลต่อเนื่องที่แตกต่างออกไปอย่างมหาศาล มันอาจจะเปลี่ยนทั้งชีวิตของเราต่อจากนี้ไปตลอดกาล]
หรือบ้างก็ไปไกลถึงศาสนาและปรัชญา [ความสมบูรณ์สิ้นสุดลง เมื่อเกิดจุดอ้างอิงใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกนับพันหมื่นแสนล้าน / ชีวิตก็ถูกรายล้อมไปด้วยสรรพสิ่งที่เป็นอื่น ซึ่งล้วนแตกต่าง ชอบใจ ไม่พึงใจ แถมยิ่งกว่านั้น ชีวิตนี้ยังหาความสุขกายสบายใจอะไรไม่ได้เลย และชีวิตนี้ยึดกุมอะไรไว้ไม่ได้ด้วยเช่นกัน เพราะทุกอย่างแปรเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลาย พลัดพราก / จากหนึ่งเดียวที่ได้ระเบิดออกเป็นสรรพสิ่ง ก็เพื่อให้เราได้กลับมามองเห็นกันและกันแบบนี้นี่เอง เราละทิ้งความสมบูรณ์พร้อมเพื่อจะได้ร่วมแบ่งปันความขาดพร่องร่วมกับผู้อื่น]
ก่อนที่จะยาวไปกว่านี้ ผมขอสรุปสั้น ๆ ตรงนี้ว่า "วินาทีไร้น้ำหนัก" เป็นนิยายที่น่าสนใจมาก รอบแรกผมอ่านแล้วเฉย ๆ เหมือนนิยายทั่วไป พอรอบที่สองเริ่มมองเห็นบางสิ่งที่ซ้อนซ่อนอยู่ (เช่น สภาวะไร้น้ำหนักที่เกิดขึ้นในฉากรถตู้ บนอวกาศ หรือแค่เพียงหน้าตู้แช่ร้านสะดวกซื้อ เช่นธีมของการกลับบ้าน) พอรอบสามก็เลยสนุกกับรายละเอียดอื่น ๆ ครับ เล่มนี้อ่านง่าย (ยิ่งคนกรุงเทพยิ่งอ่านง่าย เพราะฉากในเรื่องคุ้นเคยดี) ภาษาไม่สวิงสวาย อ่านเอาสนุก หรือจะอ่านเพื่อขบคิดก็ได้ ...แต่ไม่แนะนำให้อ่านบนรถตู้นะครับ มันจะสยองไปหน่อย
วินาทีไร้น้ำหนัก เขียนโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ สำนักพิมพ์มติชน ราคาปก 400 บาท
5.ชีวิตที่ใช่ ไม่ต้องใช้ทางลัด (Hacking Life)
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ก็คือประเด็นตามที่โปรยบนปกฉบับภาษาไทยไว้ว่า "ยิ่งโปรดักทีฟ ยิ่งเร่งรีบให้ทันคนอื่น แต่กลับพบว่าชีวิตว่างเปล่า ทำไมแนวคิดแฮ็กชีวิตจากซิลิคอนแวลลีย์ จึงทำให้เราไม่มีความสุข" หรือถ้าเอาให้ชัดเข้าไปอีก คำโปรยภาษาอังกฤษบนปกที่โปรยไว้ว่า "Systematized Living and Its Discontents" ก็อธิบายแก่นของหนังสือได้ดี (แปลประมาณว่า การใช้ชีวิตที่ถูกทำให้เป็นระบบ แต่เรากลับรู้สึกไม่เติมเต็ม เหมือนยังขาดอะไรอยู่ตลอด)
พูดแบบภาษาบ้าน ๆ เข้าใจง่าย ๆ นี่คือหนังสือที่ตั้งคำถามต่อกระแสฮาวทูพัฒนาตัวเองทั้งหลายที่ฮิตมาก ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ผมเองก็เป็นหนึ่งในกระแสนั้น แต่ปัจจุบันสนใจเรื่องนี้น้อยลงมาก ๆ แล้ว) ผู้เขียนบอกว่าเรื่องราวของการ Hack (หาทางลัด พัฒนาให้ดีขึ้นในแทบทุกเรื่องในชีวิตทั้งการทำงาน สุขภาพ ความสัมพันธ์ เพราะเชื่อว่าทุกอย่างเป็นระบบ) คือเวอร์ชั่นล่าสุดของวงการพัฒนาตัวเอง โดยเขาตั้งคำถามว่าทางลัดที่ว่านั้นดีจริงหรือเปล่า? ทำได้จริงหรือเปล่า? ทำได้ยาวนานหรือเปล่า? และชีวิตเราต้องการทางลัดขนาดนั้นหรือเปล่า?
ใครที่เคยอ่านหนังสือแนว ๆ พัฒนาตัวเอง แนวเพิ่มประสิทธิภาพให้ตัวเอง น่าจะสนุกไปกับการอ่านหนังสือเล่มนี้ครับ เพราะเขาพูดถึง (และบางเล่มก็ตั้งคำถาม) กับหนังสือดัง ๆ หลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น...
The 4-Hour Workweek / Getting Things Done / Freakonomics / Smarter Faster Better / The Power of Habit / The 7 Habits of Highly Effective People / The 80/20 principle / Grit / Willpower / Essentialism รวมไปถึงเวที TED Talks วิธีการ Pomodoro กระแสคลั่งไคล้ Minimal ที่มีสตีฟ จ็อบส์ และสินค้าของเขาเป็นที่เทิดทูนของสาวก หนังสือคูล ๆ อย่าง Walden วิธีจัดบ้านของมาริเอะ คนโดะ และวิธีคิดแบบสโตอิก ที่นำโดยหนังสือ Meditation (และรับช่วงต่อโดย Ryan Holiday ที่ตอนนี้หนังสือ Ego is the Enemy กำลังดังในบ้านเรา)
ผมอ่านแล้วรู้สึกตระหนักขึ้นมาทันทีว่าสังคมเรากำลังถูกสร้างด้วยแนวคิดทำนองนี้ คนที่ถูกยกย่องให้เป็นผู้นำความคิด มีผู้ติดตามมากมาย ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากวิธีคิดของหนังสือและสื่อเหล่านี้
เพราะฉะนั้นต้องบอกว่า หากใครไม่คุ้นชื่อหนังสือหรือบุคคลเหล่านี้ คงต้องบอกว่าคุณน่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่อิน เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนกำลังกล่าวถึง แต่ถ้าใครรู้จักหนังสือพวกนี้ เคยอ่าน อย่างน้อยก็จะเป็นอีกมุมมองที่ทำให้เราฉุกคิดและกล้าตั้งคำถามต่อวิธีคิดในหนังสือเหล่านี้ แทนที่จะอ่านแล้วชอบ ชอบแล้วเชื่อในทันที
ทั้งหมดทั้งปวงไม่ได้หมายถึงผู้เขียนต่อต้านทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแฮ็คชีวิตไปทั้งหมดนะครับ เขาบอกว่ามีข้อดีและใช้งานได้จริงอยู่หลายข้อ เพียงแต่อยากแตะเบรคไว้บ้างก็เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าน่าเสียดายไปนิดที่หนังสือถูกเขียนขึ้นด้วยการกล่าวถึงรายละเอียดที่ยุ่บยั่บ ยากต่อการอ่านแบบไหลลื่น (พูดง่าย ๆ ว่าอ่านไม่สนุกเท่าหนังสือ Self Help หรือ Productive ทั้งหลาย) ผมเองทั้ง ๆ ที่พอคุ้นชินกับหนังสือที่กล่าวมาทุกเล่ม ก็ยังรู้สึกว่า Hacking Life เป็นหนังสือที่อ่านไม่ง่าย ต้องใช้สมาธิสูง (และดูเหมือนผู้เขียนจะพุ่งเป้าไปที่ Tim Ferris และเหล่าผลิตภัณฑ์ของเขามากเป็นพิเศษ)
Hacking Life หรือชื่อไทย "ชีวิตที่ใช่ ไม่ต้องใช้ทางลัด" สนพ.Be(ing) เขียนโดย Joseph M.Reagle Jr. แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ราคาปกเล่มละ 329 บาท
6.จดหมายถึงแซม (Letters to Sam)
เหนือความคาดหมาย ดีกว่าที่คิดไว้มาก ชื่อหนังสือ "Letters to Sam จดหมายถึงแซม" เห็นปกทีแรกผมนึกว่าเป็นนิยายวรรณกรรมเยาวชนอะไรทำนองนั้น แต่ปรากฏว่ามันคือจดหมาย 32 ฉบับที่คุณตา (ผู้เป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุ ต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต) เขียนถึงหลานชาย (ผู้มีอาการออทิสติกตั้งแต่วัย 14 เดือน) บอกเล่าถึงประสบการณ์และบทเรียนชีวิตในวัย 50 กว่าปี ทั้งเรื่องสุข ทุกข์ การเยียวยาบาดแผลในใจ ความเมตตาที่เราควรมีทั้งกับตัวเองและผู้อื่น (รายได้ผู้เขียนมอบให้การกุศลทั้งหมด)
ความน่าสนใจก็คือ คุณตาท่านนี้เป็นนักจิตบำบัดปริญญาเอกที่เขียนหนังสือได้ดีมาก ถึงแม้เขาจะเล่าเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัวของเขา แต่เนื้อความในจดหมายกลับแฝงด้วยประโยคแห่งปัญญาที่มีส่วนผสมระหว่างตะวันตกและตะวันออก (แนวคิดของศาสนาคริสต์ การทำสมาธิ การปล่อยวาง อยู่กับปัจจุบัน การรวมเป็นหนึ่งเดียว)
มีหลายประโยคที่ผมอ่านแล้วชอบ ขอยกมาบางประโยค (ตัดต่อเพื่อความกระชับ)
แต่ละวันจิตใจจะรับข้อความหลายพันล้านข้อความซึ่งผันแปรตามการกระตุ้นของประสาทสัมผัส แต่จิตใจตัดสินไม่เก่งว่าความคิดไหนมีคุณค่า และความคิดไหนเป็นของเสีย กิจกรรมทางใจนี้สามารถทำลายวันทั้งวัน แทรกตัวมาในความฝัน และทำลายโอกาสที่จะมีความสุขได้อย่างเร็วร้าย เพราะเราไม่มีเครื่องกรองที่ดีพอ
ทุกอารมณ์เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เรารอให้มันผ่านไปได้เหมือนรอรถประจำทาง เราจะรออย่างผิดหวัง โกรธเคือง หรือรู้สึกเป็นเหยื่อก็ได้ แต่มันไม่ช่วยให้รถประจำทางมาเร็วขึ้น หรือเราจะรออย่างอดทนและผ่อนคลาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้รถประจำทางมาเร็วขึ้นเหมือนกัน รถประจำทางทุกคันก็เป็นเช่นนี้ มันมาต่อเมื่อมันมา เราแค่ต้องศรัทธาว่ามันจะมา
มนุษย์ไขว่คว้าหาสิ่งที่ทำให้รู้สึกมั่นคงกว่าเสมอ เราผละจากอกแม่ไปหาจุกนมหลอก จากของเล่นชิ้นเล็กๆ ไปหาของเล่นชิ้นใหญ่ จากรถยนต์ไปหาบ้านและบ้านพักตากอากาศ ความรู้สึกมั่นคงไม่อาจได้มาด้วยการครอบครอง มันเป็นแค่ภาพลวงตา เราอาจรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีอย่างอื่นให้เราคิดอยู่ร่ำไป ความสุขจะอยู่ป้ายหน้าเสมอ
การขยายภาชนะให้ใหญ่ขึ้นสามารถเปลี่ยนโลกจากภายในสู่ภายนอก คนที่ก้าวออกจากตัวเองและเริ่มลงมือช่วยเหลือผู้อื่นมักมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กว้างขึ้น ซึ่งไม่ล้นด้วยปัญหาส่วนตนอีกต่อไป
โดยสรุป ใครที่ชอบหนังสือแนวจิตวิญญาณ การเดินทางด้านใน ชอบหนังสือ Tuesdays with Morrie หรือหนังสือ The Last Lecture น่าจะชอบหนังสือเล่มนี้ครับ ความพิเศษอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้ที่ต้องขอชื่นชมเป็นอย่างสุดท้าย นั่นคือ "คุณภาพของกระดาษและการเข้าเล่ม" สนพ.เลือกใช้กระดาษดีมาก หนาพิเศษ เราจะรับรู้ได้ทันทีที่สัมผัสเนื้อกระดาษ รวมไปถึงการเข้าเล่มแบบเย็บกี่ไสกาว ทำให้หนังสือทนทาน กางได้กว้างเป็นพิเศษ
"Letters to Sam จดหมายถึงแซม" สำนักพิมพ์ OMG Books เขียนโดย Daniel Gottlieb แปลโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ ราคาปก 285 บาท
7.ใช้คลื่นพลังบวก ดึงดูดพลังสุข (Good Vibes, Good Life)
ปกสีทองสวยมาก เขียนโดย Vex King ชายหนุ่มวัย 30 กว่า เชื้อสายอินเดีย สัญชาติอังกฤษ เขาโด่งดังในโลกออนไลน์จากการโพสต์คำคมความคิด จนมีผู้ติดตามมากมายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นบ้านเราก็คงเรียกเขาว่าเป็น Life Coach แต่เขาเรียกตัวเองว่าเป็น Mind Coach
เนื้อหาในเล่มนี้ ถ้าใครสายอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง อ่านมาหลายเล่มแล้ว ก็อาจบอกผ่านได้เลย เพราะเนื้อหาไม่มีอะไรใหม่ (ซึ่งนี่คือลักษณะเฉพาะของหนังแนวฮาวทูที่เป็นมานานแล้ว คือ เหล้าเก่าในขวดใหม่ ใครจะเล่าได้น่าฟังกว่ากัน) ไม่ได้แปลว่าแย่นะครับ ถ้าอยากอ่านย้ำซ้ำความคิดอีกสักเล่ม เล่มนี้ก็ยังนับเป็นตัวเลือกที่ดี
ส่วนถ้าใครเป็นมือใหม่สายพัฒนาตัวเอง หรือชอบมากที่จะอ่านเนื้อหาทำนองนี้ เล่มนี้แนะนำเลยครับ เขาเขียนอ่านง่ายมาก ๆ แต่ละประโยคคมคาย นำไปปรับใช้งานได้จริง เนื้อหาในเล่มนั้นครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของการปรับความรู้สึกให้เป็นเชิงบวก เพื่อดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้ามา การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง การเลือกคบคน การจัดการความสัมพันธ์ จิตใต้สำนึก NLP การจัดการเสียงในหัวตัวเราเอง การตั้งเป้าหมาย การลงมือทำและรักษาความมุ่งมั่น
มีหลายประโยคที่ผมชอบ ขอยกมาบางตัวอย่าง (ตัดต่อเพื่อความกระชับ)
ทุกความคิดและคำพูดต่างก็มีแรงสั่นสะเทือนที่มีพลัง เมื่อพูดถึงคนอื่นในทางลบ เราก็กำลังส่งพลังงานด้านลบสู่จักรวาล
เวลารู้สึกแย่เพราะบางคนไม่ชอบคุณ นั่นเป็นเพราะอีโก้กำลังทำงาน คุณมองว่าคุณค่าของคุณอยู่ที่การยอมรับของอีกฝ่าย พอเขาไม่ยอมรับ คุณจึงรู้สึกไม่ดีกับตัวตนอีกต่อไป
เราอยากให้คนอื่นหยุดเป็นพิษ แต่น้อยครั้งที่จะย้อนกลับมาดูการกระทำของตัวเอง แม้กระทั่งคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็นแบบอย่างที่ดี ก็มักลืมย้อนกลับมาดูการกระทำของตัวเอง
คนเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอัตราเร็วแตกต่างกัน
อินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยผู้คนที่ชื่นชอบการเห็นคนอื่นถูกถากถางและซ้ำเติมเมื่อกำลังแย่ พวกเขาเห็นด้วยกับข้อสรุปในแง่ลบอย่างรวดเร็วและกระตือรือร้นที่จะฉลองความผิดพลาด เนื่องจากเสพติดทางวัฒนธรรมในเรื่องหายนะของผู้อื่น
วิธีที่ผู้คนปฏิบัติต่อโลกภายนอกบ่งบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกภายในของเขา บ่อยครั้งคนเราก็อารมณ์ไม่ดีเพราะถูกคนที่อารมณ์ไม่ดีทำร้ายมาอีกที คนที่เพิ่งเจ็บ ก็ไปทำให้คนอื่นเจ็บต่อและเกิดเช่นนี้ต่อไปอีก
สิ่งที่คนอื่นพูดถึงคุณ บ่งบอกถึงตัวพวกเขาเองมากกว่าตัวคุณเสียอีก เวลาคนอื่นตัดสินคุณ พวกเขาก็ส่อธาตุแท้ออกมา
ถ้าขอให้กล่าวถึงทุกสิ่งที่รัก ต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าคุณจะกล่าวถึงตัวเอง คำถามนี้เป็นการเตือนพวกเราหลายคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องการรักตัวเอง
โดยสรุป เป็นหนังสือที่อ่านง่าย เขียนเป็นบทสั้น ๆ จบในบท ตามสไตล์งานเขียนยุคนี้ เนื้อหาไม่ใหม่ แต่วิธีเขียนที่ไหลลื่น ทำให้ผมอ่านจบในรวดเดียว
"Good Vibes, Good Life ใช้คลื่นพลังบวก ดึงดูดพลังสุข" เขียนโดย Vex King สนพ.อมรินทร์ ราคาปก 245 บาท
8.ขอให้แมวโอบกอดคุณ
หนังสือรวมเรื่องสั้นแนะนำมากครับ เต็ม 10 ให้ 100 คะแนน เขียนดีมาก ผมอ่านไปรำพึงรำพันไปว่าทำไมเขียนเก่งจัง (ต้องชื่นชมผู้แปลด้วย) ข้อเสียประการเดียวของหนังสือเล่มนี้คือมันไม่ได้วางตัวเป็นวรรณกรรมทรงภูมิขึ้นหิ้ง แต่ดูเหมือนเป็นหนังสือชิลล์ ๆ ของเหล่าทาสแมว เหมาะกับการเปิดอ่านในคาเฟ่สไตล์มินิมอล ขาว ๆ ไม้ ๆ ทั้งที่จริงเรื่องราวในเล่มเล่าถึง "ความรู้สึก" ของมนุษย์ได้อย่างงดงามและมีความหวัง ถือเป็นหนึ่งเล่มที่ผมชอบที่สุดในปีนี้ และรวมถึงเท่าที่เคยอ่านหนังสือมา
เล่าแบบสั้น ๆ นี่คือรวมเรื่องสั้น 7 เรื่องที่มีจุดยึดโยงเดียวกัน คือร้าน Blanket Cats (แมวผ้าห่ม อันเป็นความหมายของชื่อหนังสือเล่มนี้ในภาษาญี่ปุ่น) ร้านดังกล่าวให้บริการเช่าแมว โดยมีกฏว่าเช่าได้ครั้งละ 3 วัน ห้ามเช่าตัวเดียวติดต่อกัน (จะได้ไม่ผูกพัน) ต้องกินอาหารที่ทางร้านให้ไป และต้องให้แมวนอนกับ "ผ้าห่ม" ที่ทางร้านเตรียมไว้ เพราะเป็นผ้าห่มของแมวตัวนั้นที่มันคุ้นเคยกลิ่น แมวจะได้ไม่เครียดเมื่อต้องเปลี่ยนผู้เช่าบ่อย ๆ
ฟังดูเหมือนต่อจากนี้จะเป็นเรื่องราวฟิน ๆ ของชาวทาสแมวที่คงได้อ่านอะไรคิ้วท์ ๆ ของน้องแมวหลายสายพันธุ์ แต่ความจริงก็คือ ผู้เขียนเพียงใช้เรื่องแมวให้เช่าเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังบ้าน 7 หลังที่จะเกิดเป็นเรื่องราวต่อ ๆ มา (แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีรายละเอียดและตำนานแมวแต่ละชนิดที่ผู้เขียนทำการบ้านมาดีมากครับ)
ความสนุกจึงคือการที่เราได้ตามติดเข้าไปในบ้านแต่ละหลัง ซึ่งมีปัญหาแตกต่างกันไป คู่สามีภรรยาที่มีลูกไม่ได้ และกลายเป็นความว่างเปล่าของเสาร์อาทิตย์ / ครอบครัวที่คุณย่ามาเยี่ยมบ้านเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนลูกหลานจะส่งไปพักสถานสงเคราะห์ / ครอบครัวที่พ่อกดดันคาดหวังในตัวลูกชายมากเกินไป / เด็กน้อยหนีออกจากบ้าน เพราะไม่อยากอยู่กับแม่ใหม่ / สาวใหญ่จงใจเช่าแมวดำแมวตัวเดิมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ให้สมกับความโชคร้ายในชีวิตของเธอ / หนุ่มสาวพยายามแอบเลี้ยงแมวในแมนชั่นที่ลุงเจ้าของดุมาก / พ่อผู้ซึ่งเพิ่งตกงาน กับการพยายามกอบสร้างความทรงจำดี ๆ ก่อนที่มันจะหายไป แต่มันเป็นความทรงจำที่ลูกสาวบอกว่า...เห็นแก่ตัว
สิ่งดีงามของหนังสือเล่มนี้ก็คือ มันมีความหมายหลายชั้นให้เลือกอ่าน จะอ่านเพื่อความสนุกเพลิน ๆ ก็ได้ (สนุกมาก รวดเดียวจบ และไม่อยากให้จบเลย) จะอ่านเพื่อเข้าใจความรู้สึกมนุษย์ก็ได้ (เขียนเก่งมาก บรรยายความรู้สึกที่ปนเปกันไปจนไม่แน่ใจว่าคือความรู้สึกอะไรกันแน่? รู้สึกผิด รู้สึกรัก โกรธ กลัว ประชดประชัน น้อยใจ ไม่มั่นใจ อ่อนแอ แกล้งเข้มแข็ง ฯลฯ) หรือจะอ่านเพื่อศึกษาชั้นเชิงการเขียนก็ยิ่งสุดยอด (สัญลักษณ์ การเปรียบเทียบ รูปประโยคที่ทิ้งว่างให้ต่อเติมเอง)
เหนือสิ่งอื่นใด ที่ผมชอบที่สุด แม้ทุกเรื่องจะเต็มไปด้วยปัญหาของตัวละคร แต่ผู้เขียนก็ยังเลือกจบเรื่องราวอย่างมี "ความหวัง" แบบพอเหมาะกำลังดี คือไม่หวานเลี่ยนโลกสวยเกินไป ถือว่าเหมาะมากที่จะอ่านในช่วงเวลาต้องการกำลังใจแบบด่วน ๆ ในตอนนี้
ผมขอจบด้วยประโยคหนึ่งของตัวละครในเล่ม คิดว่าคือตัวแทนของแก่นในเล่มครับ ตัวละครนั้นพูดว่า "แมวน่ะ ถ้าสูญเสียของสำคัญไปก็จะทำได้แค่ทุรนทุราย แต่มนุษย์น่ะต่างออกไป แม้สูญเสียสิ่งสำคัญไป แต่ก็ยังจดจำสิ่งนั้นไว้ และตามหาสิ่งสำคัญใหม่ได้ มนุษย์น่ะ จะหาสิ่งนั้นเจอได้ด้วยตัวเอง"
สรุปว่า เล่มนี้แนะนำครับ แนะนำจริง ๆ ได้โปรดหามาอ่าน เพื่อจิตใจอันอ่อนโยนและอ่อนแอ จะได้รับความหวังและกำลังใจ
ขอให้แมวโอบกอดคุณ เขียนโดย ชิเงมัตสึ คิโยชิ แปลโดย ปาวัน การสมใจ สำนักพิมพ์ picolo ในเครืออมรินทร์ ราคาปก 355 บาท
9.The Lost Skill ทักษะที่หายไปในศตวรรษที่ 21
ชื่อหนังสืออาจฟังใหญ่โตน่าเกรงขาม จะอ่านยากหรือเปล่า? คำตอบคือ ตรงข้ามเลยครับ ผมเรียกหนังสือลักษณะนี้ว่า "หนังสือที่เหมาะสำหรับอ่านแทนการเล่นมือถือ" ความหมายคือ เนื้อหาแบ่งเป็นบทย่อย ๆ บทละ 3-5 หน้า จะเปิดอ่านบทไหนก่อนก็ได้ ตรงจริตกับคนยุคนี้ที่สมาธิสั้น อ่านอะไรได้ไม่นาน แทนที่จะรูดมือถือไปเรื่อย ๆ ระหว่างจิบกาแฟ ลองหยิบเล่มนี้มาอ่านแทน ผมคิดว่าได้น้ำได้เนื้อมากกว่า
เนื้อหาในเล่มเสมือนการคัดสรรข้อเขียน พ็อดแคสท์หรือการบรรยายของอาจารย์นภดล จำนวน 33 บท โดยมีแกนหลักว่าด้วยทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่หนังสือเล่มนี้บอกว่าเป็น "ทักษะที่หายไปในศตวรรษที่ 21" ดังนั้นเนื้อหาแต่ละบทก็จะสอดรับกับการฝึกทักษะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การบริหารเวลา การตั้งเป้าหมาย เทคนิคการอ่านหนังสือ เทคนิคการเขียนหนังสือ เรื่อยไปจนถึงเนื้อหาเกี่ยวกับวงการศึกษาที่อนาคตเราจะเรียนรู้กันตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยที่กำลังถูกดิสรัป ข้อคิดเกี่ยวกับการเรียนและการสอนออนไลน์
นอกจากจะแบ่งเป็นบทสั้น ๆ อ่านไม่ยากแล้ว รูปเล่มยังกะทัดรัดเหมาะพกพาไว้อ่านตอนเดินทาง ใครอยากฝึกนิสัยรักการอ่าน เล่มนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ
ในยุคที่คอนเทนต์ออนไลน์เต็มไปหมด ผมยังคงคิดว่าการอ่านหนังสือเล่มกระดาษยังเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น มันช่วยฝึกสมาธิ มันทำให้เราเห็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด รู้สึกได้ถึงความสำเร็จ และอย่างน้อยที่สุด การได้จับต้องของจริง ๆ ก็ยังเป็นสัมผัสที่มนุษย์โหยหา ต่อให้เราจะเข้าสู่โลกเสมือนในเร็ววันนี้แล้วก็ตาม
"The Lost Skill ทักษะที่หายไปในศตวรรษที่ 21" เขียนโดย ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ สำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคาปก 220 บาท
10.แท็กซี่คันนี้รับส่งความหวัง
นิยายญี่ปุ่นอบอุ่นหัวใจ ผมอ่านจบแล้วชอบมาก ๆ อยากชวนให้หามาอ่าน ถือเป็นนิยายอีกหนึ่งเล่มที่ผมประทับใจในปีนี้ เล่าสั้น ๆ แบบไม่สปอยล์ นี่คือนิยายที่ใช้พล็อตยอดฮิตที่เรียกว่า Man in the Hole ความหมายคือ ตัวละครกำลังตกอับ ชีวิตมีปัญหา คล้ายตกอยู่ในหลุมลึก และต้องหาขึ้นมาจากหลุมนั้นให้ได้ พล็อตแบบนี้เป็นที่รักของนักอ่าน เพราะเราได้ลุ้นเอาใจช่วยตัวละคร และอย่างน้อยก็ลืมปัญหาของเราไปได้ชั่วขณะ (แถมยังรู้สึกเหมือนปัญหาเราคลี่คลายไปด้วยพร้อมกับตัวละคร)
ชูอิจิคือตัวละครพระเอกในเรื่อง เขาอายุ 40 กว่า อาชีพพนักงานขายประกันชีวิต ที่ชีวิตตัวเองกำลังตกอับ นอกจากจะหาลูกค้าใหม่ได้ยาก ลูกค้ารายเก่าก็พากันยกเลิก นี่ยังไม่นับปัญหาที่บ้าน ลูกสาววัยมัธยมไม่ยอมไปโรงเรียน ภรรยากำลังวางแผนไปเที่ยวปารีส โดยที่ไม่รู้ว่าเขากำลังขาดรายได้ ส่วนพ่อของชูอิจิก็เพิ่งเสียไปเมื่อไม่กี่เดือน เหลือแต่แม่แก่ชราอยู่ตัวคนเดียวที่บ้านต่างจังหวัด
ปัญหารุมเร้า จนเขาได้แต่รำพึงกับตัวเองอยู่ริมถนนว่า "...ทำไมถึงมีแต่เราที่ต้องเจออะไรแบบนี้"
ตอนนั้นเองนาทีเปลี่ยนชีวิตของเขาก็เกิดขึ้นแบบที่เขาไม่รู้ตัว จู่ ๆ เขาก็โบกมือเรียกแท็กซี่คันหนึ่ง เมื่อขึ้นไปนั่ง ชูอิจิก็พบกับความแปลกประหลาด คนขับรู้จักชื่อของเขา รู้ว่าควรไปส่งเขาที่ไหน แถมมิเตอร์ยังเป็นเลขประหลาดที่ไม่น่าใช่ค่าโดยสาร เพราะมันกำลังลดลงเรื่อย ๆ ที่สำคัญคนขับแท็กซี่ยังบอกชูอิจิด้วยว่า "งานของผมคือเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของคุณ"
เรื่องราวต่อจากนั้น อยากให้ลองหามาอ่านกันเองครับ เป็นนิยายที่อ่านง่าย อ่านสนุก บทสนทนาคมคาย บรรยายฉากให้จินตนาการตามได้ไม่ยาก ใครอ่านงานญี่ปุ่นบ่อย ๆ น่าจะนึกออก
มีหลายประโยคในเล่มที่ผมชอบมาก ขอยกมาบางประโยค (ตัตต่อเพื่อความกระชับ)
เวลาที่พูดคำว่าโชคดี คนส่วนใหญ่มักไม่สนใจสิ่งที่ต้องทำก่อน ชอบข้ามขั้นไปคาดหวังอยากให้จู่ ๆ ก็มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่คำที่ให้ภาพของโชคได้อย่างถูกต้องไม่ใช่ 'ดี' หรือ 'ร้าย' แต่เป็น 'ใช้' กับ 'สะสม' เราต้อง 'สะสม' ก่อน ถึงจะมีให้ 'ใช้' คนที่ถูกมองว่าเป็นคนโชคดี จริง ๆ แล้วเขาก็แค่ใช้ของที่ตัวเองสะสมมาเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงโชคชะตาให้ดีขึ้น เรียกอีกอย่างว่าจุดพลิกชีวิต จากจุดนั้นชีวิตเราจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะมีเรื่องวิเศษมหัศจรรย์เกิดขึ้น ทุกอย่างจะดูไม่ต่างกับวันทั่วไป เพียงแต่พอเวลาผ่านไปแล้วลองกลับมาย้อนทบทวนดู คุณจะนึกขึ้นได้ว่ามันเริ่มจากตรงนั้นนี่เอง
มนุษย์เราต่างก็ได้รับพลังงานจากความพยายามของใครสักคน แต่พอถึงตาตัวเองที่ต้องพยายามบ้าง กลับมองอะไรสั้น ๆ พอทำแล้วไม่เห็นผลทันตาก็โทษว่าโชคร้าย พยายามไปก็เปล่าประโยชน์ ในความเป็นจริง กว่าความพยายามจะเกิดดอกออกผล มันใช้เวลานานกว่าที่คิด และดอกผลที่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับตัวเราเอง บางทีมันก็ไปเกิดกับคนรอบข้างที่เรารัก หรือกับคนรุ่นต่อไป ชีวิตมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิทานแห่งชีวิตที่ดำเนินไปชั่วนิรันดร์
มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยต่างก็ใช้ชีวิตโดยทำหน้าที่ตามบทบาทของตัวเองในนิทานแห่งชีวิต หากคนในยุคไหนพยายามกันเต็มที่ ในยุคต่อไปก็จะได้เกิดมาในยุคสมัยที่ดีกว่ายุคก่อนหน้า ตัวคุณในตอนนี้เองก็กำลังใช้ชีวิตที่ได้รับสืบทอดมาในนิทานแห่งชีวิตอยู่ วันนี้หรือแม้แต่ตอนนี้ก็มีชีวิตใหม่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เด็ก ๆ เหล่านั้นลืมตาดูโลกท่ามกลางสังคมในปัจจุบันอย่างไร้เดียงสาไม่รู้เรื่องรู้ราวใด ๆ แล้วใครกันล่ะที่เป็นคนสร้างสังคมนี้ขึ้น...พวกเราไง
การคิดว่าถ้าคิดถึงแต่เรื่องดี ๆ แล้วจะมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นไม่ใช่การคิดบวก การคิดบวกที่แท้จริงคือการคิดว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ล้วนเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและจำเป็นต่อชีวิต เราเกิดมามีชีวิตอยู่อย่างมากร้อยปีแล้วก็ตายจากไป แต่ถ้าตอนที่จากไป ได้ทิ้งสิ่งที่มีคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับนิทานเรื่องนี้มากกว่าตอนที่เกิดมา ก็เท่ากับว่าแค่การที่เคยมีชีวิตอยู่ก็ถือเป็นเรื่องบวกแล้ว นี่ต่างหากที่เรียกว่าการคิดบวกของจริง
โดยสรุป อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังสือนิยายกึ่ง ๆ ฮาวทูที่พูดถึงเรื่องการคิดบวก การควบคุมอารมณ์ การให้ค่ากับความพยายาม และการนึกออกไปนอกตัวเอง ทำสิ่งดี ๆ ทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลัง จะมีข้อตินิดนึงก็คือ เหมือนผู้เขียนพยายามใช้คนขับแท็กซี่เทศนาในสิ่งที่เขาอยากบอกสอนไปหน่อยเท่านั้นเองครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเนื้อหาที่เขาสอนเรานั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ผมยังเก็บมาครุ่นคิดจนถึงนาทีนี้
ทิ้งท้ายไว้อีกนิด หากใครเป็นตัวแทนประกัน (หรือแม้แต่คนที่ทำประกัน) จะยิ่งชอบเล่มนี้มาก ๆ เพราะตัวละครเอกเขาให้นิยามเกี่ยวกับการทำประกันไว้ได้ดีมาก
"แท็กซี่คันนี้รับส่งความหวัง" เขียนโดย คิตางาวะ ยาซุชิ แปลโดย อิศเรศ ทองปัสโณว์ สำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคาปก 250 บาท
11.อยากขายดี สตอรี่ต้องโดน (Stories That Stick)
เล่มนี้ถ้าให้แนะนำสั้น ๆ นี่คือ "คู่มือฝึกเล่าเรื่อง 101" ในความหมายว่าเนื้อหาค่อนข้างพื้นฐาน ใจความไม่มากมาย เอาจริงถ้าเขียนให้จบในไม่กี่หน้าก็ทำได้ แต่คงไม่มีใครซื้อหนังสือที่บางขนาดนั้น
เล่าแบบสั้น ๆ ผู้เขียนบอกว่าผู้คนชอบฟังเรื่องเล่า เพราะมันทำงานกับอารมณ์ความรู้สึก และระบบสมองของเราในส่วนของอารมณ์ความรู้สึก ก็ทำงานได้ไวกว่าสมองส่วนเหตุผล เรื่องเล่าที่ดีจึงโน้มน้าวใจผู้คนได้ดี ไม่ว่าผู้คนดังกล่าวจะหมายถึง ลูกค้า พนักงาน หรือนักลงทุน (ที่เราอยากให้เขามาลงทุนในธุรกิจเรา) ก็ตาม
ผู้เขียนบอกว่าเล่มนี้เธอเน้นไปที่ "เรื่องเล่าเชิงธุรกิจ" ในความหมายว่าเล่าไปเพื่อการงานการเงินการสร้างทีมทำนองนั้น โดยเรื่องเล่าเชิงธุรกิจนั้นเล่าได้ 4 แบบ คือ แบบเน้นที่คุณค่าของสินค้า แบบเน้นที่เรื่องราวของผู้ก่อตั้ง แบบเน้นเรื่องเป้าหมายที่กำลังจะมุ่งไป และแบบเน้นเรื่องเล่าประสบการณ์การใช้งานจริงจากลูกค้า ซึ่งก็แล้วแต่เราครับว่าจะหยิบเรื่องเล่าแบบไหนมาใช้งานให้เหมาะสม
แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ ถ้าให้เป็น "เรื่องเล่าที่ดี" ก็ควรจะต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ มีตัวละครที่มีเอกลักษณ์อยู่ในเรื่องเล่า มีอารมณ์ความรู้สึกอยู่ในเรื่องเล่า มีช่วงเวลาที่สำคัญ (ไม่ใช่เล่าตั้งแต่เกิดจนตาย) และมีรายละเอียดในเรื่องเล่าเพื่อให้คนฟังเห็นภาพ
โดยสรุป ก็อย่างที่บอกครับว่าเป็นหนังสือเบื้องต้นของคนอยากฝึกพูดนำเสนอ อยากเล่าเรื่องให้เก่ง เรื่องพวกนี้ฝึกได้จริงครับ ผมผู้ซึ่งเป็นคนพูดน้อย ก็ฝึกจนทำได้มาแล้ว
แต่ถ้าใครเป็นนักพูดอยู่แล้ว เล่มนี้ก็อาจบอกผ่านได้เลย หรือหากใครอยากฝึกต่อจากเล่มนี้ ผมแนะนำหนังสือของ ไบรอัน เทรซี่ หรือหนังสือของเวที TED จากนั้นลองหาโอกาสฝึกเล่าเรื่องไม่ว่าจะผ่านออนไลน์หรือที่ทำงานก็ได้ครับ เพราะสุดท้ายคงไม่มีหนังสือเล่มนี้ไหนสอนเราได้ ถ้าเราไม่เคยฝึกเล่าเรื่องจริง ๆ
"อยากขายดี สตอรี่ต้องโดน" (Stories That Stick) เขียนโดย Kindra Hall สนพ.บิงโก ราคาปก 280 บาท
12.คุมเสียงในหัวได้ ชีวิตง่ายทุกเรื่อง (Chatter)
เล่มนี้เขียนโดย อีธาน ครอสส์ ดอกเตอร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมจิตสำนึก เนื้อหาในเล่มพูดถึงเสียงที่ดังอยู่ในหัวของเรา ซึ่งอันที่จริงมีข้อดีคือทำให้เราได้ทบทวนความคิดและจำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่ข้อเสียก็คือมันทำให้เราว้าวุ่น คิดไม่ตก กังวลจนใช้ชีวิตได้ไม่มีประสิทธิภาพ หนังสือเล่มนี้ก็เลยจะบอกวิธีง่าย ๆ ในการทำให้เสียงในหัวของเราสงบลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากครับ เพราะคนที่เราคุยด้วยมากที่สุดในแต่ละวันก็คือตัวเรานั่นเอง
ผู้เขียนบอกกับเราว่าสาเหตุที่ธรรมชาติต้องให้เรามีเสียงในใจ ก็เพราะมันคือวิธีทบทวนข้อมูลที่เราได้รับจากภายนอก เพื่อเก็บเป็นความทรงจำ เป็นการเรียนรู้ด้วยการพูดทวนในใจ จากนั้นเสียงจากภายนอกจะค่อย ๆ กลายเป็นเสียงของเราในที่สุด อย่างไรก็ตาม เจ้าเสียงในใจพวกนี้มันดังไม่หยุด พูดตลอดเวลา แบบชื่อหนังสือเล่มนี้ Chatter ที่แปลว่าพูดพล่ามไปเรื่อย
ส่วนวิธีที่เขาแนะนำนั้น ก็มีตั้งแต่ หนึ่ง ให้ถอยออกมามองปัญหาในภาพกว้างขึ้น อย่าดำดิ่ง ให้ฝึกจินตนาการว่าถ้านี่คือปัญหาของคนอื่น เขาจะแก้อย่างไร หรือถ้าเป็นเราในอีก 10 ปีข้างหน้า ยังจะรู้สึกมาก ๆ กับเรื่องนี้หรือไม่ สอง เรียกชื่อตัวเราเอง เพื่อกระตุ้นเตือนสติตัวเราไม่ให้ตกอยู่ในวังวนอารมณ์มากเกินไป สาม เลือกผู้รับฟังที่ดี ที่ทั้งเข้าใจความรู้สึกและช่วยเราใช้เหตุผลแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่หาคนมารองรับอารมณ์เราอย่างเดียว สี่ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติซึ่งมีพลังช่วยบำบัดเราได้ และห้า ใช้สิ่งของหรือพิธีกรรมบางอย่างให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้เป็นธรรมเนียมแล้วใจจะสงบลง ...รายละเอียดลึก ๆ กว่านี้ ลองหาอ่านในเล่มนะครับ
ถือเป็นหนังสืออีกเล่มที่ดีครับ เขียนอ่านง่าย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมยังรู้สึกว่ายังคงเป็นหนังสืออีกเล่มที่เขียนด้วยวิธีการแบบ "มัลคอล์ม แกล็ดเวลล์" คือระดมเรื่องเล่าจำนวนมากที่เหมือนจะไม่เกี่ยวกัน แต่มาเกี่ยวกันในที่สุด จากนั้นก็มีงานวิจัยประกบ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปบางอย่างที่ตั้งธงไว้ ซึ่งวิธีแบบนี้ทำให้หนังสือเล่มนั้นยาวเกินไป และเรียกร้องสมาธิสูงในการทำความเข้าใจเนื้อหา (โชคดีที่เล่มนี้ไม่หนามาก เนื้อหาจริง ๆ ไม่ถึง 200 หน้า แต่มีเชิงอรรถอีกเกือบ 100 หน้า ซึ่งผมยังสงสัยว่ามีกี่คนที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ เป็นได้มั้ยว่าจะลงแค่ link แล้วไปดูเชิงอรรถในเว็บไซต์แทน)
"Chatter คุมเสียงในหัวได้ ชีวิตง่ายทุกเรื่อง" เขียนโดย อีธาน ครอสส์ แปลโดย เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ ราคาปก 295 บาท
13.ชนะพลังลบ (The Power of Bad)
หนึ่งในหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับ "อคติการคิดลบ" ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่าน เสียดายที่ปกไม่ค่อยดึงดูด (ปกต้นฉบับ ก็ประมาณนี้) เลยทำให้หลายคนมองข้ามไป แต่ส่วนตัวผมยกให้เป็นหนึ่งในเล่มที่ชอบที่สุดในปีนี้ เขียนโดย John Tierney และ Roy Baumeister คนแรกคือนักเขียน คนหลังคือนักจิตวิทยา สองคนนี้เคยร่วมกันเขียนหนังสือระดับตำนานมาแล้ว นั่นคือหนังสือที่ชื่อ Willpower
ส่วนเนื้อหาในเล่มนี้ เขาพูดถึงประเด็นที่ว่า ความไม่ดี (Bad) นั่นทรงพลังกว่าความดี (Good) ในความหมายว่าเรื่องร้าย ๆ ลบ ๆ นั้น แพร่กระจายเร็วกว่า เป็นที่สนใจกว่า เป็นสัญชาตญาณของคนเรามากกว่า ดังนั้นมันจึงส่งผลกระทบกับเรามากกว่าเรื่องดี ๆ สิ่งดี ๆ
ในหลายครั้งจึงทำให้เราตัดสินใจไม่สมเหตุสมผล (มองแง่ร้ายไป ก็ไม่ลงมือทำอะไรเลย) แต่ก็แน่นอนว่า Bad ก็มีความ Good ในแบบของมัน (มองแง่ดีไป ก็ไม่ระวังตัวเลย) ปัญหาจึงอยู่ที่เราจะรู้เท่าทันได้อย่างไร จะใช้ประโยชน์จากเรื่องลบ ๆ ได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้จะบอกวิธีครับ
ผมชอบที่หนังสือค่อย ๆ เล่าให้เราฟังว่าคนเรานั้นให้น้ำหนักกับเรื่องลบ ๆ มากแค่ไหน (เกิดเรื่องร้าย 1 ครั้ง ต้องใช้เรื่องดี ๆ มาคานน้ำหนักถึง 4 เรื่อง ไม่อย่างนั้นจะยังรู้สึกแย่อยู่) จากนั้นก็พาเราไปสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ของชีวิตที่ "พลังลบ" จะตามไปถึง พร้อม "คำแนะนำที่ดีมาก ๆ" เช่น
ความสัมพันธ์ (อารมณ์เชิงบวกที่มีให้กันทั้งสองฝ่าย มีผลต่ออนาคตการแต่งงานเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่วิธีการที่แต่ละฝ่ายตอบสนองต่อความคิดติดลบของกันและกัน เป็นเรื่องสำคัญ) / ความกลัว ความกังวล ที่มีแต่กำเนิด (เมื่อคุณมองโลก ความสนใจของคุณจะถูกดึงไปที่ภัยอันตรายโดยอัตโนมัติ ทารกเห็นภาพงูไวกว่ากบ เห็นใบหน้าเศร้าเร็วกว่าหน้าสุข สมองจะจดจ่ออยู่กับภาพที่ทำให้เกิดความกลัวหรือรังเกียจนานกว่า) / คำวิพากษ์วิจารณ์ (การแทนที่คำเชิงบวกแต่ละคำด้วยคำตรงข้าม ส่งผลต่อชื่อเสียงของนักวิจารณ์อย่างน่าประหลาดใจ)
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจมาก เขียนไปเดี๋ยวจะยาวกว่านี้ครับ เช่น รางวัลกับการลงโทษ แบบไหนขับเคลื่อนคนได้ดีกว่ากันแน่? ถ้ามีคนที่มีพลังลบอยู่ในบริษัทจะมีวิธีรับมืออย่างไร? การทำธุรกิจกับการรับมือรีวิวในโลกออนไลน์ เมื่อ Bad กำลังเฟื่องฟู เราจะมีวิธีต้านทานอย่างไร อนาคตของเรื่องดี ๆ ยังมีอยู่มั้ย? โอโห ต้องบอกว่าแต่ละประเด็นเขียนดี เขียนสุด เขียนเก่งมาก
สรุป อยากให้อ่านมาก ๆ ครับ อาจมิข้อติหน่อยก็คือ ตัวหนังสือค่อนข้างเยอะ ต้องทยอยอ่าน เนื้อหาประมาณ 300 หน้าแบบไม่มีน้ำ
"ชนะพลังลบ : The Power of Bad" เขียนโดย John Tierney และ Roy Baumeister แปลโดย ไอริสา ชั้นสิริ สำนักพิมพ์ Cactus (ในเครือ B2S) ราคาปก 369 บาท
Comments