1.
ถ้าใครสักคนกำลังรู้สึกว่าทำไมชีวิตฉันไม่ไปไหนเสียที ติดอยู่ที่เดิม ไม่เห็นทางไปต่อ ท้อกับทุกสิ่งอย่าง ...ผมคิดว่าบางทีใครคนนั้นอาจเริ่มต้นแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการเลิกแชร์สเตตัสที่เขาไม่ชอบ เลิกโพสต์ข่าวหรือเรื่องของบุคคลที่เขาหมั่นไส้ เลิกคอมเมนต์โพสต์ที่ชวนให้คนเข้าไปรุมคนที่เกลียดร่วมกัน
ถ้าเข้าใจการทำงานของจิต เราจะรู้ว่าโลกข้างในกำหนดโลกข้างนอก สิ่งใดที่เราหมกมุ่นสนใจ เราจะเห็นสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และก็อย่างที่รู้กันว่ายุคนี้ จิตของคนเราสิงอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดเวลา ยิ่งแชร์ โพสต์ คอมเมนต์สิ่งที่เกลียด เราก็ยิ่งเจอสิ่งที่ไม่ชอบเพิ่มขึ้นอีก สเตตัสที่เราหมั่นไส้ ข่าวคนชั่วร้ายที่เราไม่พอใจ จะยิ่งตีคลื่นม้วนโถมกลับมาหาเราร้อยเท่าทวีคูณ แล้วเราก็จะยิ่งมีความสุขที่มีความทุกข์ขึ้นเรื่อย ๆ ...ขณะเดียวกันก็จะสงสัยว่าทำไมชีวิตฉันไม่ไปไหนมาไหนเสียที
พนันกับผมก็ได้ สิบเอาหนึ่ง เลือก facebook ของใครก็ได้ขึ้นมาคนหนึ่ง แล้วส่อง timeline ของเขาคนนั้น ดูย้อนหลังไป 10 สเตตัส ถ้ามีแต่การแชร์สิ่งที่เกลียด โพสต์บ่นด่าไปเรื่อย แบบนี้แทบไม่มีทางเลยที่เจ้าของ facebook คนนั้นจะมีชีวิตที่ดี๊ดี มีความสุข มีความก้าวหน้า มีแต่คนรัก
ก็โลกข้างในมันแย่ขนาดนั้น โลกข้างนอกจะดีได้อย่างไร?
2.
ผมอยากจะสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ แม้จะรู้ว่าเป็นไปได้ยาก แต่ก็อยาก โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ดราม่าเต็มเมือง ผู้คนใช้ชีวิตหลบอยู่หลังจอ แล้วกดมือถือ พิมพ์อะไรกันไปเรื่อยเปื่อย
ผมขอเรียกมันว่า "7 ข้อควรคิด ก่อนวิจารณ์ไปเรื่อยเปื่อย"
1. ถ้าไม่มีประสบการณ์ตรงในสิ่งนั้น เราไม่ควรวิจารณ์เลย เช่น ไม่ได้ไปดูคอนเสิร์ตนั้น ไม่เคยไปกินร้านนั้น แม้จะฟังเพื่อนเล่ามา น้องนุ่งไปเจอมา ก็ไม่ควรนำมาวิจารณ์ต่อ เพราะเราอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน
2. ถ้าอดไม่ได้ คันปาก อยากร่วมวงวิจารณ์จริง ๆ ให้ออกตัวว่านี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว และอาจจะผิดก็ได้
3. ต่อให้เราไม่พอใจ และมีประสบการณ์ตรง ก็ไม่ควรวิจารณ์ในทันที เพราะเราอาจตกอยู่ในอารมณ์เกลียดมาก ไม่พอใจมากเกินจำเป็น ทิ้งไว้ให้เย็น เอาให้แน่ใจว่าฉันโกรธจริง ไม่พอใจจริง แล้วค่อย ๆ เขียนด้วยอารมณ์ให้น้อยที่สุด
4. ถ้าเราไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นจริง ๆ เช่น ไม่ได้เรียนมา ไม่ได้ศึกษามา ก็ไม่ควรวิจารณ์ให้มากมาย ประหนึ่งว่ารู้จริง เพราะแทนที่จะโชว์ฉลาด อาจเป็นโชว์โง่ ถามตัวเองก่อนวิจารณ์ว่า ถ้าเป็นเรา เราทำได้ดีกว่าเขา คนที่เราวิจารณ์จริงหรือไม่
5. ไม่ควรวิจารณ์ด้วยวาจาส่อเสียด แต่ควรให้เกียรติผู้ถูกวิจารณ์ เพราะมีแต่คนที่ไม่เคยลงสนามจริง ที่ไม่รู้ว่าความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ลองถามตัวเองก่อนวิจารณ์ว่าเราให้อภัยเขาได้หรือไม่
6. ไม่ควรวิจารณ์ด้วยจิตใจที่คับแคบ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เช่น ถ้าเหมือนที่เราคิด แปลว่าถูก ถ้าไม่เหมือนที่เราคิด แปลว่าผิด แบบนี้ไม่น่าจะใช่ ทางที่ดีให้เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น ในเมื่อเรามีเหตุผลของเรา เขาก็อาจมีเหตุผลของเขา ถามตัวเองเสมอว่า ที่เราบอกว่าเขาทำไม่ถูกนั้น เขาทำไม่ถูก หรือแค่เขาทำไม่ถูกใจเรากันแน่?
7. ให้ลองคิดว่าถ้าเราเป็นเขา ถ้าเขาเป็นเรา แล้วเราถูกเขาวิจารณ์แบบเดียวกันเป๊ะ เราจะรู้สึกอย่างไร เราอยากได้การให้อภัย หรืออยากได้การเหยียบซ้ำให้จมดิน? ถ้าคิดมาดีแล้วตอบว่าอภัยได้ จงเลิกวิจารณ์ และให้อภัย แต่ถ้าคิดดีแล้วตอบว่าให้อภัยไม่ได้ ต้องเหยียบซ้ำ ก็เอาเลย
...ใครจะห้ามคุณได้ เอาที่สบายใจครับ
3.
ผมคิดว่าการเล่นโซเชี่ยลมีเดีย เป็นการสร้าง "อัตตา" ชั้นดี เราจึงต้องรีบทำลายมัน ก่อนที่มันจะแข็งแรงไปกว่านี้ ลองคิดดูสิครับ เขาคอมเมนต์ว่าชอบเรา เราก็เลยชอบเขา ว่าเขาดี แต่พอเขาคอมเมนต์ว่าไม่ชอบเรา เราก็เลยไม่ชอบเขา ว่าเขาไม่ดี เราเขียนสเตตัสถูกใจเขา เขาก็เลยชอบเรา ว่าเราดี แต่พอเราเขียนสเตตัสไม่ถูกใจเขา เขาก็เลยไม่ชอบเรา ว่าเราไม่ดี
สรุปแล้ว มนุษย์เราใช้เกณฑ์ตัดสินว่า คนดี คือคนที่ถูกใจเรา คนถูกใจเรา คือคนที่พูดจาตรงกับความเชื่อของเรา เราทำตัวเป็นศูนย์กลางจักรวาลชัด ๆ ตัดสินทุกอย่างบนพื้นฐานว่า "ฉันถูก คนอื่นผิด" ถ้าคิดไม่เหมือนฉัน คนนั้นผิด ดูสิครับ อัตตาเราตัวใหญ่มาก ผมเคยเห็นหลายคนทะเลาะกันไปมาโลกโซเชี่ยล บางคนหน้าที่การงานดี ตัวจริงพูดจาดี แต่ในโลกออนไลน์กลับลืมตัว เขียนภาษาแรงมาก ทั้งที่ส่วนใหญ่ไอ้ที่ทะเลาะกันไปมา ...เราไม่รู้จักตัวจริงกันด้วยซ้ำ
ผมพยายามเตือนตัวเองอยู่เสมอ เวลาต้องเจอสถานการณ์คอมเมนต์แรง ๆ ด้วยข้อคิด 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ฉันเป็นใคร? แน่นักรึไง? ทำไมคนอื่นจะว่าไม่ได้? พอคิดแบบนี้ อัตตาที่ยิ่งใหญ่ของผม ก็ดูจะเล็กลง ใครอยากจะต่อว่าอะไร ก็ได้เลย
2. คนที่สำคัญกับเราคือ "คนในโลกจริง" ไม่ใช่ "คนในโลกจอ" เราเจ็บป่วย เดือดร้อน สำเร็จ สุขใจ นั่งสมาธิ ว่ายน้ำ ดูปะการัง เขาก็ไม่ได้มามีส่วนในชีวิตจริงของเราเลย เพราะฉะนั้นจะเอาหัวไปคิดเรื่องนี้ทำไม?
3. สิ่งที่คอมเมนต์โต้ตอบกันไปมา ไม่กี่วันเราก็ลืมแล้ว มันจึงไม่ได้มีสาระอะไรที่จะต้องมาใส่ใจเลย
4. อีกไม่กี่สิบปีจากนี้ เราทุกคนที่เล่นโซเชี่ยลมีเดีย ก็จะต้องตายไปจากโลกนี้ เราจะไม่อยู่ที่นี่ ตรงนี้แล้ว แล้วเราจะเถียงกันไปเพื่ออะไร? ใครเห็นว่ามีประโยชน์ ก็ลองนำไปปรับใช้กับตัวเองดูครับ เผื่อจะลดอัตตาที่ชอบคิดว่าตัวฉันถูกต้อง ตัวฉันนั้นสำคัญมาก ...ซึ่งไม่จริงเลย
เวลาชีวิตของเรานับถอยหลังไปเรื่อย ๆ ใส่ใจในสิ่งที่ควรเอาใจใส่ดีกว่าครับ.
Comments