1.
เป้าหมายของทุกอาชีพ ที่เราควรไปให้ถึงก็คือ "เลือกรับงาน" ได้ ในความหมายว่า เราจะรับหรือไม่รับงานนั้นก็ได้ เราจะทำหรือไม่ทำงานนั้นก็ได้ ...เปล่าครับ ผมไม่ได้หมายถึงการเป็นคนเรื่องมาก ทำให้คนอื่นปวดหัวเวลาจะทำงานร่วมกัน ผมไม่ได้หมายถึงการเป็นคนหยิบหย่ง เดี๋ยวทำเดี๋ยวเลิก รับปากแล้วไม่ทำ เพราะคนแบบนี้ไม่นานก็จะไม่มีงานให้ทำ
แต่ผมหมายถึง เราต้องอยู่ในฐานะที่ "เลือกงาน" ได้ว่างานไหนอยากทำ งานไหนเหมาะกับเรา งานไหนสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตเรา ถ้าไม่ใช่ เราต้องสามารถปฏิเสธได้
ไม่ใช่มีงานอะไรก็ต้องรับไว้ก่อน เดี๋ยวไม่มีกิน ใครเอาปัญหามาให้ ก็ต้องรับตามล้างตามเช็ด งานไม่ดี คนร่วมงานไม่ดี ก็ต้องรับไว้ เดี๋ยวไม่ได้งานถัดไป งานหนัก ๆ เงินน้อย ๆ ก็ตัองรับไว้
...ทั้งหมดเพียงเพียงเพราะ "เลือกไม่ได้"
2.
บางคนอ่านแล้วอาจคิดว่า ใช่สิ คนเขียนอย่างผมทำได้แล้ว ก็พูดได้น่ะสิ ...เปล่าเลยครับ ไม่มีใครทำได้ตั้งแต่แรก ช่วงต้นของชีวิตการทำงาน ทุกคนก็ต้องรับทุกงานนั่นแหละ วงดนตรีระดับตำนาน "The Beatles" ก็เล่นดนตรีในผับเล็ก ๆ มาก่อน ผู้กำกับระดับโลก "ต่อ ธนญชัย" ก็เริ่มจากเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ ...ใครอีกล่ะ พูดมาเถอะ ทุกคนเริ่มจากเลือกไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น สำคัญที่เราจะมีข้ออ้างหรือจะสร้างทางให้ตัวเอง
กุญแจสำคัญมันอยู่ตรงนี้ครับ การเลือกรับงานจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบ 3 ข้อ
หนึ่ง เราต้องมีฝีมือ เพราะฉะนั้นต้องฝึกฝน อดทนทำตัวเองให้เก่งให้จงได้
สอง เราต้องเป็นอันดับต้น ๆ ของวงการ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักวงการตัวเองว่าใครคือเบอร์ต้น ๆ เพื่อศึกษาและตั้งเป้าว่าฉันจะต้องขึ้นไปอยู่ตรงนั้นให้ได้
สาม ต้องไม่มีใครทำแทนเราได้ เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างลายเซ็นของตัวเอง
เมื่อทำได้ครบ 3 ข้อ เราจะเลือกรับงานได้ เราจะทำงานได้อย่างเป็นอิสระ ผลงานก็จะยิ่งดีขึ้น ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นไปอีก แล้วก็จะยิ่งเลือกรับงานได้ยิ่งขึ้นอีก วนเวียนเป็นวงจรแบบนี้
อ่านถึงตรงนี้แล้ว เอาไงดี? จะทำตัวเหมือนเดิม คึกสักพัก แล้วพักไปอีกนาน หรือจะลงมือทำอะไรสักอย่างให้เรา "เลือกรับงาน" ได้ ฝึกจนเก่ง เก่งแล้วแตกต่าง จนขึ้นไปเป็นเบอร์ต้น ๆ ของวงการ
...ก็อย่างที่บอกครับ สำคัญที่เราจะมีข้ออ้าง หรือจะสร้างทางให้ตัวเอง
3.
คนขี้เกียจจะหาข้ออ้าง ส่วนคนขยันจะหาหนทาง แต่ปัญหาก็คือความขี้เกียจเป็นบาปที่เราทำได้ง่ายที่สุด แล้วทำไมเราบางคนจึงขี้เกียจ? ส่วนตัวผมคิดว่าคนเราขี้เกียจ เพราะเบื่อ เบื่อ เพราะไม่มีเป้าหมาย ไม่มีเป้าหมาย เพราะไม่เห็นถึงคุณค่าในตัวเอง ...นั่นคือวงจรของความขี้เกียจ แต่ถ้าเรากลับเฟส กลับวงจร เริ่มจากเห็นคุณค่าในตัวเอง ลองดูสิครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น?
เมื่อเห็นคุณค่าในตัวเอง ก็จะเริ่มมีเป้าหมาย เมื่อมีเป้าหมาย ก็จะไม่เบื่อ เมื่อไม่เบื่อ ก็จะไม่ขี้เกียจ ...ถ้าสมมติว่าสิ่งนี้ถูกต้อง คนขี้เกียจจึงไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเขายังไม่เห็นค่าในตัวเอง
แล้วทำอย่างไรจะเห็นคุณค่าในตัวเอง? เรื่องนี้ผมพูดบ่อย ๆ ทำได้ 2 อย่างคือ
วิธีแรก ให้นับความสำเร็จ ความดีของตัวเอง ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยทำบางสิ่งสำเร็จมาแล้ว ต้องเคยทำความดีมาบ้าง ในนึกถึงเรื่องเหล่านั้น สาเหตุที่ี่ให้นับความสำเร็จ ก็เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในตัวเองกลับคืนมา
วิธีที่สอง ลองทำอะไรเพื่อคนอื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน เช่น แบ่งปันความรู้ในโซเชียลมีเดีย ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ สิ่งที่มีค่าที่สุดในตัวเราไม่ใช่ทรัพย์สินราคาแพง แต่คือการได้รู้ว่าเรามีประโยชน์กับผู้อื่น
เมื่อรู้ว่าเรามีค่า เมื่อรู้ว่าเราทำได้ เมื่อนั้นเราจะเลิกขี้เกียจไปตลอดกาล
4.
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีขี้เกียจ แม้ขยันสร้างชีวิต ก็ใช่ว่าจะง่าย เพราะเมื่อเราลุกขึ้นมาตั้งใจกับชีวิต หลายครั้งสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ มี "ความหวังดี" ต่าง ๆ ตามมา เช่น ถ้าเราอยากหารายได้เสริมหลังเลิกงาน ก็อาจมีคนบอกเราว่า "เฮ้ย พักบ้าง อย่าไปเครียด เย็นนี้ไปดื่มกัน คิดมากทำไมวะ มีน้อยก็ใช้น้อย"
"ความหวังดี" ที่ผมหมายถึง มันคือความหวังดีจริง ๆ ครับ ไม่ใช่หวังดีประสงค์ร้ายแต่อย่างใด และผมก็ไม่ได้เขียนเพื่อประชดประชันแต่อย่างใด เพียงแต่คนจำนวนหนึ่งเขาไม่ค่อยจริงจังกับชีวิต เขามองชีวิตไม่เกินวันนี้พรุ่งนี้ จึงไม่เข้าใจฝันใหญ่ ๆ ที่เรากำลังสร้าง
เขาจึงปรารถนาดีบนพื้นฐานของเขา ไม่อยากให้เราเครียดไปกับการทำงานเพิ่ม หรือเรื่องอะไรก็ตามที่ทำแล้วชีวิตต้องเปลี่ยนแปลง ...เขาไม่เข้าใจว่าชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เพราะอยู่กับที่แปลว่าถดถอย เสื่อมลงทีละน้อย
5.
คำถามก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรกับ "ความหวังดี" เหล่านี้? คำตอบก็คือ ฟังคำหวังดี ขอบคุณ แต่เราไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือทำตาม ที่สำคัญอย่าได้เถียงกลับ อย่าขว้างความปรารถนาดีทิ้ง ขอให้น้อมรับ แล้วดื้ออย่างเงียบ ๆ ทำไปตามเป้าหมายของเรา
บางตำราจึงบอกว่า บางเป้าหมาย ไม่จำเป็นต้องประกาศให้ใครรู้ ซุ่มทำของเราเงียบ ๆ แบบไม่ให้คนอื่นรู้ เพราะอะไรก็ตามที่ผู้คนไม่รู้ เขาย่อมไม่สามารถทำให้เราเจ็บปวดได้ เมื่อวันที่เรามีรายได้เพิ่มจนพอใจ เมื่อวันที่เป้าหมายบรรลุ วันนั้นจึงค่อยให้โลกรู้ก็ได้ บางทีเขาเหล่านั้นอาจทึ่งด้วยซ้ำว่าเราทำได้อย่างไร และอาจอยากทำตามบ้าง
รับความหวังดีนั้นไว้ แล้วไปต่อ อย่าต่อล้อต่อเถียง เสียเวลาสร้างฝันของเราเปล่า ๆ ดีไม่ดีจะเสียความรู้สึกซึ่งกันและกันอีกต่างหาก
จำไว้แค่นี้ก็พอ เขาหวังดีจริง ๆ เพียงแต่เขาไม่เข้าใจเป้าหมายเราเท่านั้นเอง เรามีหน้าที่มุ่งตรงต่อไป ยกระดับความสามารถให้สูงขึ้น จนสร้างอิสระในการสร้างงานได้อย่างใจ (และสร้างรายได้อย่างงดงาม)
นั่นคือเป้าหมายของอาชีพที่ผมคิดว่าเราต้องไปให้ถึง.
Comments