1.
เช้าวันหนึ่ง ผมหยิบหนังสือการ์ตูนโดราเอมอนขึ้นมาอ่าน หลังจากไม่ได้อ่านมานานแล้ว โดราเอมอน (หรือโดเรมอน) ยังคงมีมนต์ขลังอยู่ ยิ่งโตก็ยิ่งเห็นมุมมองที่เปลี่ยนไป เข้าทำนองว่า “หนังสือไม่เปลี่ยน แต่คนอ่านเปลี่ยน” มีอยู่ตอนหนึ่งผมชอบมาก โนบิตะโวยวายตามเคยว่าชีวิตน่าเบื่อ วันนี้ไม่มีอะไรทำเลย เมื่อไหร่จะถึงตอนเย็น จะได้ถึงเวลาการ์ตูนโปรดสักที มีของวิเศษอะไรที่ช่วยให้เวลาผ่านไปเร็วมั้ย โดราเอมอน!
ตื๊อไปตื๊อมาจนโดราเอมอนชักรำคาญ จึงควักของวิเศษออกมาจากกระเป๋า 4 มิติ สิ่งนั้นคือ “รอกหมุนเวลา” ที่จะทำให้เวลาวาร์ป (Warp) ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โนบิตะดีใจมาก คว้ารอกหมุนเวลามาหมุน ๆๆ แล้วก็ถึงเวลาเย็นที่รอคอย โนบิตะติดใจในพลังของของวิเศษ ก็เลยนำมาใช้จนเกิดเรื่องวุ่นวายตามเคย คราวนี้พอไม่ชอบอะไร ก็หมุน ๆๆ ให้มันผ่านไป เช่น เบื่อตอนนอนกลางคืน ก็หมุน ๆๆ เดี๋ยวก็เช้าแล้ว หรือไม่ชอบตอนแม่ดุ ก็หมุน ๆๆ อะไรประมาณนั้น
แล้วเรื่องก็มาเกิดตอนที่พอโนบิตะแกะกล่องของขวัญคริสต์มาสปีนี้มาดู แล้วพบว่าเป็นสารานุกรมน่าเบื่อมาก ไม่อยากได้เลย ว่าแล้วโนบิตะจึงหมุน ๆๆ รอกเพื่อข้ามไปยังปีถัดไป พอพบว่าของขวัญปีหน้าก็น่าเบื่อ ก็เลยหมุน ๆๆ ไปอีกปีถัดไปและถัดไป จนกระทั่งพบว่าตัวเองกลายเป็นผู้ใหญ่ไปแล้ว และของขวัญที่ว่านั้นก็กลายเป็นของขวัญของลูก ไม่ใช่ของขวัญของตัวเอง โนบิตะจึงได้แต่นั่งร้องไห้ ...โดราเอม่อนนน แล้วฉันจะทำอย่างไรกับเวลาที่ผ่านพ้นไปแล้ว
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ลองไปหาอ่านกันดูนะครับ แต่ส่วนตัวผมนั้นคิดว่าเรื่องราวในตอนนี้ มันช่างเหมือนกับชีวิตคนเราเหลือเกิน ทุกอย่างผ่านไปรวดเร็ว
โดยเฉพาะในวันที่อายุมากขึ้น เวลาจะผ่านไปเร็วเป็นพิเศษ
2.
ย้อนไปเกือบสามสิบปีก่อน ผมกับเพื่อน ๆ ที่เรียนมาด้วยกัน เคยพูดไว้ว่า ถ้าเราเรียนจบ แยกย้ายกันไปแล้ว อีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรหนอ แต่ละคนจะทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้ แต่เอาเป็นว่าเราจะนัดเจอกันอย่างน้อย ๆ ปีละครั้ง เพื่ออัพเดทชีวิตกัน
ยี่สิบกว่าปีผ่านไป ผมและเพื่อนก็ยังทำตามสัญญาได้อยู่ เราเจอกันทุกปี ปีละมากกว่าหนึ่งครั้ง ต่างคนก็ต่างมีหน้าที่การงานต่างกันไป บ้างก็เป็นวิศวกรตามที่เรียนมา บ้างก็ไปเป็นเอ็นจีโออยู่หน่วยงานเพื่อประชาชน บ้างก็เพิ่งกลับจากแสวงโชคเมืองนอก บ้างก็ทำธุรกิจส่วนตัว ส่วนผมเองก็มาแต่งเพลงและกลายเป็นคนทำหนังสือ ...ซึ่งต่างจากเพื่อนคนอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง
มองย้อนกลับไป ผมเองก็ประหลาดใจกับชีวิตตัวเองเหมือนกัน จากวันที่ได้เห็นครูสอนดนตรีตอน ม.1 เล่นกีตาร์โปร่งโชว์ให้เด็กนักเรียนดู มันจะกลายเป็นภาพติดตา เป็นเสียงติดหู จนผมกลายเป็นนักแต่งเพลงในเวลาต่อมา หรือจากการที่ผมไม่ค่อยมีเพื่อนเล่นตอนเด็ก ๆ ทีวีก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ดู หนังสือที่บ้าน (ซึ่งเป็นร้านตัดเสื้อ) ก็มีแต่นิตยสารผู้หญิง ผมตะลุยอ่านนิทานที่มีในนั้นทุกเล่ม ทั้งสตรีสาร ขวัญเรือน หญิงไทย
ทั้งหมดจึงส่งผลให้ผมเป็นคนรักการอ่าน และได้มาทำงานหนังสือในที่สุด
3.
ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมเป็นหนี้บุญคุณหนังสือแบบใช้หนี้กันอย่างไรก็คงไม่หมด จนอดคิดไม่ได้ว่าหนังสือคือสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างสรรค์มา และหนังสือเล่มแรกๆ ที่ผมคิดว่ามีอิทธิพลกับผมนั้นก็คือ หนังสือ "แบบเรียนมานะมานี" เพราะทำให้ผมรักการอ่านหนังสือแบบที่พ่อแม่ไม่ต้องปลูกฝัง ผมอ่านจบตั้งแต่วันแรกที่ได้หนังสือมา (ซึ่งยังไม่เปิดเทอมด้วยซ้ำ)
จากแบบเรียนมานะมานี ไปสู่นิทานในนิตยสารผู้หญิงอย่างที่เล่าไปแล้ว และการ์ตูนก็กลายเป็นหนังสือประเภทต่อมาที่ผมถึงขั้นหมกมุ่น ผมเป็นสมาชิกหมายเลข 2 ของร้านเช่าการ์ตูนแถวบ้าน ช่วงวันหยุดผมเช่ามาอ่านวันละสิบเล่ม หลายครั้งต้องเหน็บไว้ในกางเกง แล้วเอาเสื้อยืดปิดไว้ เพราะกลัวแม่ดุที่อ่านการ์ตูนมากเกินไป ...โดราเอมอน ซึบาสะ คอบร้า ดราก้อนบอล ซิตี้ฮันเตอร์ เซนต์เซย่า และอีกมากมายคือเพื่อนในวันนั้นของผม
ผมต้องเลิกอ่านการ์ตูนในวันที่ถูกประกาศิตจากแม่ว่า "ห้ามอ่านการ์ตูน!" เพราะแม้แต่ในวันที่พรุ่งนี้จะสอบอยู่แล้ว ผมก็ยังเช่าการ์ตูนมาอ่าน จนแม่ต้องเรียกเจ้าของร้านเช่าการ์ตูนมาที่บ้าน เพื่อให้ดูหน้าผมแล้วลอกว่า
...อย่าให้เด็กคนนี้เช่าการ์ตูนอีก
4.
กว่าจะได้กลับอ่านหนังสือแบบจริง ๆ จัง ๆ อีกที ก็ตอนเรียนใกล้จบมหาวิทยาลัย ช่วงนั้นผมบ้าวรรณกรรมอย่างหนัก กวีซีไรต์ผมอ่านหมด เพื่อชีวิตหนักๆ ก็อ่าน นิคม รายวา, จิตร ภูมิศักดิ์, ’รงค์ วงสวรรค์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี และอีกมากมายคือชื่อที่ผมแอบเป็นลูกศิษย์ทางความคิด แต่เล่มที่มีอิทธิพลกับผมมาก ๆ ก็คือ "พันธุ์หมาบ้า" ของชาติ กอบจิตติ และ "เจ้าชายน้อย" ของ อองตวน เดอ แซง-เตกซูเปรี พันธุ์หมาบ้าทำให้ดีเอ็นเอของผมเดือดพล่าน อยากใช้ชีวิตแบบนั้นบ้าง ส่วนเจ้าชายน้อยก็ทำให้ผมละเมียดละไม มองเห็นด้วยใจ ไม่ใช่มองด้วยตา
อีกเล่มที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดนั่นคือ "โลกของโซฟี" ของ โยสไตน์ กอร์เดอร์ ที่นำปรัชญาตะวันตกที่เข้าใจยาก มาเล่าผ่านนิยายที่เดินเรื่องโดยเด็กสาวนามว่าโซฟี ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือหนาห้าร้อยกว่าหน้า จะอ่านสนุกและได้สาระถึงเพียงนั้น
ล่าสุดผมย้ายบ้าน จึงมีโอกาสจัดหนังสืออีกครั้ง ความรู้สึกเหมือนได้พบเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันมานาน ผมใช้เวลาจัดหนังสืออยู่นาน เจอเล่มนี้ก็หยุดเพื่ออ่าน เจอเล่มนั้นก็หยุดเพื่อพลิกดู ความทรงจำไหลทะลักราวกับเขื่อนแตก เหมือนกำลังอ่านชีวิตตัวเองอยู่
เพราะทุกเล่มล้วนประกอบขึ้นมาเป็นผมในวันนี้
5.
ผมนึกถึงประโยคยอดฮิตของ Steve Jobs ที่กล่าวไว้ (ประมาณนี้) ว่า ชีวิตคนเราคือการลากเส้นต่อจุด สิ่งที่ดูเหมือนไม่รู้ทำไปทำไมในวันนี้ วันข้างหน้าอาจกลายเป็นสิ่งสำคัญ กลายเป็นเหตุผลของความเป็นเราทั้งหมด
หรืออย่างชื่อเรื่องที่ผมตั้งไว้ว่า “ชีวิตเกิดขึ้นตอนเรากำลังวุ่น ๆ” ซึ่งแปลมาจากเนื้อเพลง Beautiful Boy ของ John Lennon ก็ถือเป็นการอธิบายคำว่า "ชีวิต" ได้คมคายมาก อธิบายด้วยการไม่อธิบาย แต่บอกว่าชีวิตคือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตอนที่เรากำลังวุ่น ๆ รู้ตัวอีกที เราก็ผ่านช่วงเวลานั้นไปแล้ว
ความสำคัญมันอยู่ตรงนี้นี่เองครับ ทุกวันนี้เราหลายคนเร่งรีบราวกับถูกโนบิตะใช้ "รอกหมุนเวลา" ให้ต้องใช้ชีวิตเร็วขึ้นและเร็วขึ้น จนไม่ทันสังเกตสิ่งเล็กน้อยที่เกิดขึ้นแต่ละวัน ว่าอาจก่อประกอบกลายเป็นสิ่งใหญ่ในอนาคตให้กับเรา ...หรือแม้จะไม่กลายเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ แต่สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ก็ทำให้ชีวิตมีค่าได้เช่นกัน เพราะจุดในชีวิตล้วนสำคัญทุกจุด ลองย้อนกลับไปมองชีวิตที่ผ่านมา เห็นจุดอะไรบ้าง? หลงลืมจุดอะไรไปบ้างหรือเปล่า?
อย่าวุ่นจนลืมทบทวนชีวิต เพราะชีวิตจริง เราไม่มีโดราเอมอนมาย้อนเวลาให้ครับ.
Comments