1.
เมื่อย้อนมองชีวิตที่ผ่านมา ระหว่าง "เรื่องที่ชอบ คนที่ประทับใจ" กับ "เรื่องที่ไม่ชอบ คนที่เกลียดเข้าไส้" ...คุณนึกถึงเรื่องแบบไหนได้เร็วกว่ากัน? เรื่องที่ชอบหรือเรื่องที่ไม่ชอบ? คนที่ประทับใจหรือคนที่เกลียดเข้าไส้?
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เรื่องที่นึกออกได้ง่าย เร็ว และจำนวนมาก เรื่องราวเหล่านี้จะไปดักรอเราและเกิดขึ้นใหม่อีกรอบในอนาคต ถ้าเรานึกเรื่องที่ชอบในอดีตได้เก่ง ก็มักจะได้เจอเรื่องที่ชอบอีกครั้งในอนาคต ถ้าเรานึกเรื่องที่ไม่ชอบในอดีตได้เก่ง ก็มักจะได้เจอแต่เรื่องที่ไม่ชอบอีกครั้งในอนาคต
สาเหตุก็เพราะเราจะเห็นแต่สิ่งที่อยากเห็น เมื่อกล่อมจิตด้วยเรื่องใดบ่อย ๆ จิตจะเคยชินกับเรื่องนั้น จนกลายเป็นนิสัยที่ตั้งค่ามาแล้ว
สมองจอมขี้เกียจ จะควักนิสัยเก่าเอามาใช้ แล้วปิดตา เปิดให้เห็นบางส่วน...เอาเฉพาะแต่ในสิ่งที่อยากให้เห็น เราจึงพบเห็นเรื่องที่จิตหมกมุ่น
ไม่ว่าเรื่องนั้นจะดีหรือร้ายก็ตาม
2.
คนสองคนไปปาร์ตี้'านเดียวกัน ปรากฏว่าคนหนึ่งชอบงานเลี้ยงครั้งนี้มาก ส่วนอีกคนกลับไม่ชอบเลย
คนที่ชอบปาร์ตี้นี้ เดินตรงไปคุยกับคนที่ชอบงานนี้เหมือน ๆ กัน เขาจึงยิ่งรู้สึกว่า เห็นมั้ย งานนี้สนุกจริง ๆ ด้วย ส่วนอีกคนที่ไม่ชอบปาร์ตี้นี้ เขาเดินตรงไปคุยกับคนที่ไม่ชอบงานนี้เหมือน ๆ กัน เขาจึงยิ่งรู้ว่า เห็นมั้ย งานนี้แย่มาก ๆ แย่จริง ๆ
...คำถามคือ ตกลงแล้วงานปาร์ตี้ครั้งนี้สนุกหรือไม่สนุกกันแน่?
คำตอบคือ...อยู่ที่จะเลือกมองแบบไหน มองว่างานปาร์ตี้สนุก ก็หาคนสนุก ๆ มาคุยด้วย มองว่างานปาร์ตี้ไม่สนุก ก็หาคนที่ไม่สนุก มาบ่นด้วย
ก็นั่นแหละครับ...เราจะเห็นแต่สิ่งที่อยากเห็น
3.
บางคนบอกว่า อย่ามาโลกสวย อย่ามามองโลกใน "แง่ดี" ต้องอย่างฉันสิ มองโลกใน "แง่จริง"
ฟังดูเท่ดี แต่ออกแนวฉันถูกอยู่คนเดียว ถ้าใครมองไม่เหมือนฉัน แปลว่าคนนั้นมองโลกไม่จริง ของฉันสิจริงแท้และแน่จริงอยู่คนเดียว
ถามว่าแล้วโลกในแง่จริงคืออะไร? เพราะถ้ามีการมองโลกในแง่จริงอยู่จริง ก็แปลว่าสองคนนี้จะต้องมีคนหนึ่งมองโลกในแง่ไม่จริง
แต่ปาร์ตี้ก็คือปาร์ตี้ จะสนุกหรือไม่สนุก ตัวงานปาร์ตี้เองมีส่วนน้อยมาก เพราะขึ้นอยู่กับมุมที่จะมองของคนไปร่วมงานว่ากำลังมองหาอะไรอยู่ เอาเข้าจริง มองโลกในแง่จริง ก็คือแง่ที่เราอยากจะเชื่อว่ามันจริง โดยไม่สนว่าแล้วมันจริงหรือไม่ก็ตาม
เราต่างพยายามมองหาหลักฐานมาสนับสนุนความเชื่อที่เราอยากเชื่อว่ามันจริง ก็ฉันจะเชื่อแบบนี้ ใครจะทำไม?
ทางที่ดีผมว่าเลือกเข้างานปาร์ตี้ โดยคาดหวังว่าจะเจอสิ่งดี ๆ แล้วหาให้เจอว่าสิ่งดี ๆ สิ่งนั้นคืออะไร?
แม้มีสิ่งดีเพียงสิ่งเดียว...ก็ขอให้ถือว่าดีมากแล้ว
4.
ส่วนตัวผมคิดว่าความสามารถอย่างหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพก็คือ เรา "แปลความหมาย" สิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างมีคุณภาพแค่ไหน?
ในวันที่ชีวิตเจอกับปัญหา มีหนึ่งคำถามที่ผมอยากให้ลองถามตัวเองดู คำถามนั้นคือ "สิ่งนี้แปลว่าอะไรได้อีก?"
เช่น ถ้าตกงาน ถ้าเลิกกับแฟน ถ้าเจ็บป่วย วิธีแปลความหมายแบบบ้าน ๆ แบบที่คนแปลกันทั่ว ๆ ไปก็คือ ตกงานคือเรื่องแย่ เลิกกับแฟนแปลว่าเจ็บปวด และเจ็บป่วยก็เป็นคราวซวยของชีวิต
แต่ใครที่เก่งแปลความหมายสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจะถามตัวเองด้วยคำถามนี้ว่า "สิ่งนี้แปลว่าอะไรได้อีก?" เมื่อถาม เขาจะพบกับคำตอบดี ๆ เช่น...
ตกงาน อาจหมายถึง การเตือนว่าจากนี้ไปเราต้องมีรายได้หลาย ๆ ทาง หรืออาจหมายถึงการสมัครงานครั้งใหม่ ที่อาจได้งานที่ดีกว่าเดิม
เลิกกับแฟน อาจหมายถึง เราจะได้ใช้ชีวิตอิสระ หรืออาจหมายถึงโอกาสพบเจอคนที่ใช่กว่าคนนี้
และเจ็บป่วย ก็อาจหมายถึง การได้หยุดพักเสียบ้าง หรืออาจหมายถึงสัญญาณเตือนว่าต่อไปต้องดูแลสุขภาพ
ในมุมนี้ คนแปลความหมายได้เก่งจึงได้เปรียบคนทั่วไป เพราะเขามีคำตอบดี ๆ ให้ตัวเอง ซึ่งนี่ไม่ใช่การคิดบวก และไม่ใช่การหลอกตัวเอง แต่คือคำถามคุณภาพที่เราถามตัวเองว่า "สิ่งนี้แปลว่าอะไรได้อีก?"
ในวันที่เป็นทุกข์ ลองถามตัวเองว่า นอกจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว "สิ่งนี้แปลว่าอะไรได้อีก?" แล้วชีวิตจะพบคำตอบใหม่ ๆ
ถ้าทั้งหมดนี้ จะมีคนบอกว่านี่เป็นการมองโลกแบบไม่จริง ก็ปล่อยเขาเถอะครับ ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก
แค่เราอยู่คนละโลกกัน...เท่านั้นเอง.
อ่านจบ... บอกตัวเองว่า... มีคนมาคอนเฟิมแล้วในสิ่งที่คิดมาตลอด แล้วโดนมองว่า "โลกสวย" เรามาถูกทางละ ... มั่นใจขึ้นเยอะเลย