top of page

ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิต ให้เปลี่ยนคำถาม

Updated: Feb 27, 2021

1.

ไม่ใช่คำตอบที่เปลี่ยนแปลงตัวเราได้ ...แต่เป็นคำถามคุณภาพที่เราถามตัวเองต่างหาก บางคนชอบถามตัวเองแต่เรื่องในอดีต เช่น "ทำไมชีวิตที่ผ่านมามันแย่อย่างนี้?” บางคนชอบถามตัวเองแต่เรื่องในปัจจุบันวันนี้ เช่น "เย็นนี้ไปกินข้าวร้านไหนดี?” ในขณะที่บางคนชอบถามตัวเองในเรื่องอนาคต เช่น "ปีหน้าเราจะมีโปรเจ็คท์อะไรใหม่ ๆ บ้าง?”

ภาพถ่ายโดย Ann H จาก Pexels

แน่นอน ด้วยคำถามที่ต่างกัน คำตอบย่อมต่างกัน ผมคิดว่า "คุณภาพคำถาม" นั้นสำคัญถึงขั้นกำหนด "คุณภาพชีวิต" ได้เลย ถ้าเราไม่เคยถามตัวเองว่า "ทำอย่างไรฉันจึงจะประสบความสำเร็จ?" มันก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ


เพราะฉะนั้นเราน่าจะลองถามคำถามดี ๆ กับตัวเองบ่อย ๆ เช่น แทนที่จะถามตัวเองว่าทำไมชีวิตมันแย่อย่างนี้วะ! (ซึ่งจริง ๆ นี่ไม่ใช่คำถามด้วยซ้ำ แต่เป็นคำบ่น) ก็่ให้เปลี่ยนมาถามตัวเองว่า


"ทำอย่างไรชีวิตฉันถึงจะดีขึ้นกว่านี้?”


2.

เมื่อก่อนตอนที่ชีวิตกำลังย่ำแย่ ผมชอบถามตััวเองว่า "ฉันทำอะไรผิดตรงไหนวะครับเนี่ย?" ซึ่งในที่สุดก็พบว่าไม่เวิร์ค เพราะมันเหมือนการเฝ้าโทษตัวเอง ไม่ได้เปิดสมองให้ลองคิดหาทางออก


...เอาใหม่ ผมลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น?" แม้ไม่ได้คำตอบในทันที แต่ก็เปลี่ยนโฟกัสความคิดไปได้เยอะ เพราะถ้าเราเอาแต่ถามตัวเองว่า "ในสถานการณ์แบบนี้ ฉันจะทำมันไปเพื่ออะไร?" ภาพในหัว คงไม่พ้นภาพแย่ ๆ ของทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และคงไม่แคล้วได้คำตอบว่า "นั่นสิ...จะทำเพื่ออะไร (วะ) งั้นเลิกดีกว่า!"


แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามใหม่ให้เป็น "ในสถานการณ์แบบนี้ ฉันจะทำอะไรให้มันดีขึ้นได้บ้าง?" ทีนี้ภาพในหัวก็จะเปลี่ยนไปเป็นทางเลือกต่าง ๆ ที่จะทำให้เรื่องดีขึ้น แล้วเราก็แค่เลือกสักทางที่เหมาะที่สุด จากนั้นก็ไปต่อ


แค่เปลี่ยนคำถาม ภาพในหัวก็เปลี่ยน เมื่อภาพในหัวเปลี่ยน ความเชื่อก็จะเปลี่ยน เมื่อความเชื่อเปลี่ยน ความรู้สึกก็จะเปลี่ยน เมื่อความรู้สึกเปลี่ยน การกระทำก็จะเปลี่ยน เมื่อการกระทำเปลี่ยน ผลลัพธ์ก็จะเปลี่ยน และถ้าผลลัพธ์เปลี่ยน ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน


เพราะฉะนั้นคงไม่เกินไป ถ้าผมจะบอกว่า "ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิต ให้เปลี่ยนคำถามที่เราถามกับตัวเอง"


3.

เคยเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตโดยไม่ได้ลิสต์ของที่จะซื้อมั้ยครับ? ใครที่เคย คงจะนึกออกว่าถ้าเดินเข้าไปแบบนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะหมดเงินมากเป็นพิเศษ ซื้อของที่ไม่คิดจะซื้อมาเต็มไปหมด ส่วนของที่คิดจะซื้อ ดันลืมเสียอย่างนั้น ...ชีวิตก็เหมือนกัน คนที่ไม่มีเป้าหมายก็มีแนวโน้มว่าจะมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าคนที่มีเป้าหมายชีวิต เพียงแต่สิ่งที่จ่ายอาจไม่ใช่เงินอย่างเดียว แต่คือเวลาที่สูญเสียไปเรื่อยๆ


จริงๆ แล้วขั้นตอนไปสู่ความสำเร็จ มีเพียง 3 ขั้นเท่านั้น คือ หนึ่ง รู้ว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร? สอง แล้วต้องทำอะไรบ้างถึงได้สิ่งนั้นมา? และสาม ลงมือทำสิ่งนั้นได้แล้ว ...แต่ปัญหาก็คือ คน 90% ตกบันไดตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง เพราะไม่รู้ว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร


ในมุมมองของผม นี่จึงคือคำถามระดับโลกที่เราต้องถามตัวเองบ่อย ๆ ว่า


"ชีวิตนี้ ฉันต้องการอะไรกันแน่?"


4.

ถามคำถามนี้ทุกวัน แล้วคำถามนี้จะค่อย ๆ เหลา ฝน ตะไบ ตัด ปาด วาด ลงสีภาพชีวิตทีละเล็กละน้อย จนกลายเป็นภาพที่เหมือนใจเรา


ไม่ต่างอะไรกับการป้อน Keyword ที่ชัดเจนซึ่งจะทำให้ Google ค้นหาสิ่งที่เราต้องการได้แม่นยำขึ้น ชีวิตก็เป็นแบบนั้น เป้าหมายที่ชัดเจน จะทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการเร็วขึ้น เพราะรู้ว่าอะไรสำคัญ​ และอะไรไม่สำคัญ


เรื่องแปลกอย่างหนึ่งก็คือ หลายครั้งที่่เรามีแค่เป้าหมายชัดเจนมาก แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร แต่ปรากฏว่าเพียงไม่นาน เส้นทางจะค่อย ๆ เผยตัวออกมา พาเราขยับเข้าใกล้เป้าหมายไปเรื่อย ๆ โดยที่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ...ก็เหมือนกับที่เราก็ไม่รู้นั่นแหละว่า Google ทำงานอย่างไร จึงค้นหาข้อมูลที่เราต้องการได้เร็วขนาดนั้น


อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าเป้าหมายนั้นต้อง "ชัดเจน" เพียงพอ ไม่อย่างนั้นต่อให้ทางมาปรากฏอยู่ตรงหน้า เราก็ยังไม่รู้ว่ามันคือทาง เพราะไม่รู้ว่าจะไปไหน การตั้งเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน วัดผลไม่ได้ จึงมีค่าแทบไม่ต่างกับการไม่ตั้งเป้าหมายเลย เช่น บางคนบอกว่าเป้าหมายของฉันคือ ต่อไปนี้ฉันจะตั้งใจทำชีวิตให้ดีที่สุด! Yes! Yes! Yes!


...เชื่อผมสิครับ แบบนี้ไม่เกินสามวันก็หายคึก กลับไปนั่งนึกฝันนอนฝันเหมือนเดิม


5.

เอาใหม่ครับ ลองตั้งเป้าหมายอีกที คราวนี้ให้มีตัวเลขที่วัดได้และกรอบเวลา เช่น ฉันจะลดน้ำหนักให้ได้ 5 กิโล ภายใน 2 เดือน ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม ฉันจะมีพอร์ตหุ้น 1 ล้านบาท ฉันจะทำงานให้เสร็จ 3 อย่างก่อนเที่ยงคืนวันนี้

ฉันจะเกษียณตัวเองก่อนอายุ 45 ปี ...อะไรก็ได้ครับ ลองตั้งในแบบของเรา


ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ รากฐานจะก่อเกิดมาจากการได้นั่งเงียบ ๆ คุยกับตัวเอง ถามตัวเองด้วยคำถามคุณภาพนี้ว่า "ชีวิตนี้ ฉันต้องการอะไรกันแน่?" "ชีวิตนี้ ฉันต้องการอะไรกันแน่?" และ "ชีวิตนี้ ฉันต้องการอะไรกันแน่?"


ตอนแรก ความคิดจะฟุ้ง ๆ หน่อย ก็ให้จดไว้ แล้วค่อย ๆ เขียนให้ชัด จับต้องได้ วัดผลเป็นตัวเลขได้ มีกรอบเวลากำหนด มีเหตุผลหนักแน่น (จะได้ไม่ยอมแพ้กลางทาง)


...นั่นแหละที่ความฝันของเราเริ่มจับต้องได้ เพราะคำถามคุณภาพของเรา


6.

เราไม่เคยรู้สึกว่าไอโฟนเล็ก จนกระทั่งโลกนี้มีไอแพด และเราไม่เคยรู้สึกว่าไอแพดใหญ่ไป จนกระทั่งโลกนี้มีมินิไอแพด เราไม่เคยรู้สึกว่าเรามีน้อย จนกระทั่งเห็นคนมีมากกว่าเรา เราไม่เคยรู้สึกว่าเรามีมาก จนกระทั่งเห็นคนที่มีน้อยกว่าเรา ...โลกแห่งการรับรู้ของเราคือการเปรียบเทียบโดยแท้ มาก น้อย ใหญ่ เล็ก จึงไม่ใช่ความจริง แต่ขึ้นอยู่กับเราเทียบกับอะไรมากกว่า ...แต่คนเราก็มักเป็นทุกข์เพราะการเปรียบเทียบ


ในโลกที่พูดถึงเป้าหมายและความสำเร็จ จึงไม่แปลกที่เราจะนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วถามตัวเองด้วยคำถามร้าย ๆ ว่า "ทำไมฉันยังไปไม่ถึงไหนเลยวะ" (และอีกครั้ง ...นี่ไม่ใช่คำถาม แต่เป็นคำบ่น รำพึงรำพัน)


ทั้งที่จริง แต่ละคนมีภูเขาที่ต้องปีนกันคนละลูก แบกสัมภาระที่แตกต่างกัน จึงไม่ยุติธรรมกับตัวเอง ที่จะไปเปรียบเทียบว่าคนนั้นเขาปีนเร็วกว่าเรา เขาจะถึงยอดเขาแล้ว ...เรายังไม่ถึงไหนเลย


สู้ดี เปรียบเทียบตัวเรากับตัวเราจะดีกว่า ตัวเราวันนี้ปีนขึ้นมาสูงกว่าเมื่อวานหรือเปล่า? หรือยังย่ำอยู่กับที่? หรือกลิ้งตกลงไปที่ตีนเขา? ถ้าตกลงไป แล้วทำไมยังไม่ขึ้นมา?


ใครจะไปถึงยอดเขา ก็ช่างเขาสิ ก็นั่นมันยอด "เขา" ไม่ใช่ยอด "เรา"


เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แล้วถามตัวเองด้วยคำถามคุณภาพว่า เราน่ะถึง "ยอดเรา" แล้วหรือยัง?


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบางส่วนของหนังสือ "งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า" สั่งซื้อได้ ที่นี่

คอร์สออนไลน์จาก บอย วิสูตร เกือบ 1,000 วิดีโอ (ราคาพิเศษ)

11,063 views0 comments

Comentarios


Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page